ปัญหาผิวหย่อนคล้อยอาจทำให้หน้าของคุณดูเหนื่อยล้ากว่าปกติ หนึ่งในวิธีศัลยกรรมเพื่อความงามที่อาจช่วยคืนความอ่อนเยาว์ให้ใบหน้าคุณได้ คือการดึงหน้า (Face-lift หรือ Rhytidectomy) ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยยกกระชับผิวหน้าและลำคอที่หย่อนคล้อยให้เต่งตึงและดูอ่อนเยาว์
การศัลยกรรมด้วยวิธีดึงหน้าไม่เพียงช่วยดึงกล้ามเนื้อใบหน้าและเย็บเพื่อให้ผิวหนังกระชับขึ้นตามชื่อเท่านั้น แต่ยังช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังด้วย ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ อย่างขั้นตอนการทำและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการทำศัลยกรรมดึงหน้าไว้ให้คุณแล้ว
การดึงหน้าใช้แก้ปัญหาอะไรบ้าง
เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะความเหี่ยวย่นของใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงตามวัยได้อย่างชัดเจน ทั้งผิวหนัง เนื้อเยื่อ กระดูก และไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวดูแห้ง บางลง มีริ้วรอย และผิวหย่อนคล้อย นอกจากนี้ ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การสูบบุหรี่ และความเครียด รวมถึงโรคประจำตัว อย่างโรคอ้วนก็อาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้ผิวเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าปกติ
วิธีดึงหน้ามักใช้แก้ปัญหาของผิวหน้าและลำคอในกรณีต่อไปนี้
- ผิวหนังหย่อนคล้อย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าส่วนกลาง ส่วนล่าง และลำคอ
- ร่องลึกบริเวณใต้ตา และร่องแก้ม
- ไขมันใต้ผิวหน้าที่หย่อนยาน ซึ่งอาจทำให้เกิดผิวหย่อนคล้อย ร่อง และรอยย่นบริเวณขากรรไกร (Jowls)
- ไขมันใต้ชั้นผิวหนังไปสะสมอยู่บริเวณใต้คาง ทำให้เกิดเหนียงหรือคางสองชั้น (Double Chin)
การปรึกษาและวิเคราะห์ปัญหาผิวก่อนผ่าตัดดึงหน้า
ผู้ที่เหมาะกับการศัลยกรรมดึงหน้า ได้แก่ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี มีปัญหาผิวหน้าและลำคอหย่อนคล้อยเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยที่ผิวยังคงมีความยืดหยุ่น และมีโครงสร้างกระดูกที่ปกติ ผู้เข้ารับการผ่าตัดดึงหน้าต้องไม่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด หยุดสูบบุหรี่ หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน รวมถึงเป็นผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่ตามมาหลังการผ่าตัด
ก่อนการเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ เช่น ประวัติการรักษาและการผ่าตัด การใช้ยาหรืออาหารเสริม พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาจตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นแพทย์จะตรวจและถ่ายภาพใบหน้าเพื่อวิเคราะห์รูปหน้า ไขมันบริเวณใบหน้า โครงสร้างของกระดูก และตรวจสภาพผิวหนัง เพื่อวางแผนการผ่าตัดดึงหน้าให้เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละคน
นอกจากนี้ แพทย์จะสอบถามความต้องการของผู้เข้ารับการผ่าตัด และอธิบายรายละเอียดและผลลัพธ์หลังการผ่าตัดให้เข้าใจ โดยเฉพาะกรณีที่มีปัญหาผิวบางอย่างซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการดึงหน้า อย่างริ้วรอยตื้นหรือใบหน้าไม่เท่ากันแต่กำเนิด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดดึงหน้า
ก่อนการเข้ารับการผ่าตัดมีข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรทราบและปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัย เช่น
- แพทย์อาจสั่งให้งดรับประทานยาที่มีสรรพคุณละลายลิ่มเลือด (Blood-Thinning Medication) หรือทำให้เลือดออกมากขณะผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ก่อนการผ่าตัด 1 สัปดาห์หรือตามที่แพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มใด ๆ หลังเที่ยงคืนของวันที่จะเข้ารับการผ่าตัด หากรู้สึกคอแห้ง อาจบ้วนปากด้วยน้ำเปล่า และไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งหรือลูกอม
- ล้างหน้าและสระผมให้สะอาดในเช้าวันผ่าตัด โดยแพทย์อาจให้ใช้สบู่ที่ผสมสารฆ่าเชื้อ
- แจ้งให้แพทย์ทราบในวันผ่าตัด หากใช้ยาใด ๆ หรือรู้สึกไม่สบาย เช่น เป็นหวัด มีไข้ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ
- ควรบอกคนในครอบครัว หรือคนสนิทเพื่อมารับกลับหลังผ่าตัดเสร็จ เนื่องจากการผ่าตัดดึงหน้าเป็นการศัลยกรรมที่อาจใช้ยาสลบในการผ่าตัด การเดินทางหรือขับรถกลับด้วยตัวเองอาจทำให้เกิดอันตรายได้
ขั้นตอนการผ่าตัดดึงหน้า
ในขั้นตอนการผ่าตัดดึงหน้าโดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาการให้ยาชาเฉพาะที่หรือยาสลบก่อนการผ่าตัด จากนั้นจะดูดไขมันส่วนเกินใต้ผิวหนัง และดึงกระชับเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อภายในบริเวณใบหน้าหรือลำคอ ตัดผิวหนังส่วนเกินที่เหี่ยวย่นออกจนได้ตำแหน่งตามที่ต้องการ แล้วจึงเย็บปิดแผล โดยแพทย์อาจใส่สายระบายขนาดเล็กไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหลังใบหู เพื่อระบายเลือดหรือหนองออกจากแผลผ่าตัด
ทั้งนี้ การผ่าตัดดึงหน้าแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการในการแก้ปัญหาผิวในบริเวณต่าง ๆ ดังนี้
- การดึงหน้าแบบดั้งเดิม (Traditional หรือ Full Face-Lift) รอยผ่าจะเริ่มตั้งแต่บริเวณแนวไรผมบริเวณขมับลงมาที่หน้าใบหู แล้วอ้อมใต้ติ่งหูไปจนถึงแนวเส้นผมด้านหลังใบหูเยื้องไปด้านล่างของศีรษะ และในกรณีที่มีปัญหาผิวบริเวณลำคอหย่อนคล้อยมาก แพทย์อาจผ่าเพิ่มเติมบริเวณใต้คาง
- การดึงหน้าแบบแผลเล็ก (Mini Face-Lift หรือ Limited Incision) เป็นวิธีศัลยกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งลดขั้นตอนของการดึงหน้าแบบดั้งเดิมลง โดยรอยผ่าจะอยู่ที่บริเวณไรผมด้านหน้าใบหูไปจนถึงด้านหลังใบหู แผลหลังการทำศัลยกรรมจึงมีขนาดเล็กกว่า รวมทั้งใช้เวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นน้อยกว่า วิธีการนี้จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผิวหย่อนคล้อยไม่มากนัก
- การดึงคอ (Neck Lift) ใช้แก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีผิวบริเวณกรามและลำคอหย่อนคล้อย โดยรอยผ่าจะอยู่ที่บริเวณไรผมด้านหน้าใบหูไปจนถึงแนวเส้นผมด้านหลังใบหูเยื้องไปด้านล่างของศีรษะ และในบางกรณีอาจผ่าบริเวณใต้คางเพิ่มเติม
โดยทั่วไปการศัลยกรรมดึงหน้าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2–4 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการผ่าตัดมักต้องนอนค้างคืนเพื่อพักฟื้นที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรไปพบแพทย์ตามการนัดหมายหลังการผ่าตัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำสายระบายขนาดเล็กออกจากแผลผ่าตัด ทำความสะอาดแผล เปลี่ยนผ้าปิดแผล และตรวจติดตามอาการต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด
ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจพบอาการปวด บวม ช้ำ และชาบริเวณที่ผ่าตัด ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้โดยการรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดบวมบริเวณใบหน้า และใช้หมอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้น ทั้งนี้ อาการบวมช้ำมักดีขึ้นภายใน 7–10 วัน ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ภายใน 10–14 วัน และทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากได้ภายใน 1 เดือน
การดูแลตนเองในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดจะช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้นและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยอาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- ดูแลแผลผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรแกะ เกา หรือสัมผัสบริเวณแผล
- ใช้สบู่อาบน้ำ และแชมพูตามที่แพทย์แนะนำ
- สวมเสื้อผ้าที่มีกระดุมด้านหน้า ซึ่งสวมใส่และถอดได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก และหลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณแผลผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า และการสัมผัสแสงแดดในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรทาครีมกันแดดที่สามารถปกป้องผิวจากรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการย้อม กัดสี หรือดัดผมเป็นเวลา 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
ผลลัพธ์หลังการผ่าตัดดึงหน้า
ผลลัพธ์จากการผ่าตัดดึงหน้าไม่สามารถคงอยู่ได้ถาวร เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ผิวหน้าอาจกลับมาหย่อนคล้อยได้อีกครั้ง โดยทั่วไป ผลลัพธ์มักอยู่ได้ประมาณ 5–10 ปีหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดบางคนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดดึงหน้าซ้ำในภายหลัง เพื่อแก้ไขให้ผิวหน้ากลับมาเต่งตึงอีกครั้ง
ความเสี่ยงหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดดึงหน้าอาจมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมักเกิดในช่วงสั้น ๆ หลังการผ่าตัด ขณะที่ภาวะแทรกซ้อนที่กระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมักพบได้น้อย เช่น
- เลือดออกใต้ผิวหนัง (Hematoma) ซึ่งมักทำให้เกิดอาการบวมและช้ำหลังการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด
- รอยแผลเป็นหลังการผ่าตัดบริเวณไรผมและหลังใบหู รอยแผลอาจจางลงเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไป แต่จะไม่หายขาด และในบางกรณีอาจเกิดเป็นแผลนูนแดง ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ในภายหลัง
- ปัญหาเกี่ยวกับเส้นผม อย่างผมร่วงชั่วคราวหรือถาวรในบริเวณแผลผ่าตัด
- ความผิดปกติของเส้นประสาทควบคุมความรู้สึกและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร โดยอาจทำให้ใบหน้าไม่เท่ากัน หรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณใบหน้าได้
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการผ่าตัด เช่น เลือดออกมากผิดปกติ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ การติดเชื้อ และอาการแพ้ยาสลบ
การดึงหน้าเป็นหนึ่งในวิธีศัลยกรรมที่ช่วยปรับผิวหย่อนคล้อยให้เต่งตึงและคืนความอ่อนเยาว์ให้ผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การดึงหน้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปหน้าที่มีแต่กำเนิดและไม่เหมาะกับการรักษาริ้วรอยตื้น ริ้วรอยจากแสงแดด หรือสีผิวไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ การศัลยกรรมดึงหน้ายังไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงของผิวจากอายุที่เพิ่มขึ้นได้ จึงควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรายละเอียดในการผ่าตัด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจผ่าตัดดึงหน้า เพื่อความปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการแก้ปัญหาผิว