หูกางเป็นปัญหากวนใจใครหลายคน แม้จะไม่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่ก็มักโดนล้อเลียนหรือโดนทักจากคนรอบข้างจนขาดความมั่นใจในตนเองอยู่ไม่น้อย การศัลยกรรมหูกางจึงอาจเป็นอีกทางเลือกของผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหูกางและใบหูใหญ่
การศัลยกรรมใบหู (Otoplasty) เป็นการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของหู ซึ่งสามารถใช้แก้ไขลักษณะหูของผู้ที่มีหูกางได้ โดยในบทความนี้จะพูดถึงการเตรียมตัว ขั้นตอนและความเสี่ยงจากการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาหูกาง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการศัลยกรรมหูกาง
เมื่อตัดสินใจเข้ารับการศัลยกรรมแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เตรียมตัวตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เข้ารับการประเมินสุขภาพเพื่อดูประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่กำลังใช้ หากกำลังใช้ยาหรืออาหารเสริม แพทย์อาจแนะนำให้หยุดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณเพื่อลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด
- เข้ารับการตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจสอบลักษณะของหูเพื่อประเมินวิธีการผ่าตัด รวมทั้งพูดคุยถึงขนาดหรือรูปทรงของใบหูที่ต้องการ ความคาดหวังหลังการผ่าตัด ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและแจ้งข้อมูลที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรทราบ
- ควรงดการใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ในช่วง 4–7 วันก่อนการผ่าตัด และงดการใช้ยาแอสไพรินหรือยาอื่นที่มีส่วนผสมของแอสไพริน 10 วันก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- ก่อนผ่าตัด 6 ชั่วโมง ควรงดอาหารและน้ำดื่มตามคำแนะนำของแพทย์
- ในวันที่เข้ารับการผ่าตัด ควรพาเพื่อนหรือครอบครัวไปด้วย เนื่องจากฤทธิ์ของยาสลบที่ใช้ในการผ่าตัดอาจส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดปัญหาด้านการรับรู้และการทรงตัว ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ขั้นตอนการศัลยกรรมหูกาง
ขั้นตอนก่อนเริ่มการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความเจ็บปวด ในกรณีที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีความเสี่ยงบางอย่างอาจใช้วิธีดมยาสลบแทน ในขั้นตอนการผ่าตัดปรับรูปทรงของหู ศัลยแพทย์จะเริ่มกรีดบริเวณด้านหลังของใบหูหรือบริเวณรอยพับหูเพื่อนำเนื้อและผิวหนังส่วนที่เกินออก จากนั้นจะปรับแต่ง พับ หรือฝนกระดูกอ่อนบริเวณหูตามลักษณะที่ต้องการ
หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะปรับตำแหน่งหรือทำขั้นตอนอื่น ๆ เพื่อให้ได้รูปทรงที่ใกล้เคียงกับที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องการมากที่สุด หากปรับรูปทรงเรียบร้อยแล้ว ศัลยแพทย์จะเย็บปิดแผลและพันแผลเพื่อรักษารูปทรงของหู ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้อาจใช้เวลาราว 2‒3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและรายละเอียดในการผ่าตัด
การดูแลตนเองหลังจากศัลยกรรมหูกาง
หลังการผ่าตัดอาจเกิดผลข้างเคียง อย่างอาการปวดบวม รอยแดง หรืออาการชาบริเวณแผลผ่าตัดได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดดูแลตนเองดังนี้
1. หลังการผ่าตัดควรรัดแผลด้วยผ้าพันแผลระหว่างนอนติดต่อกัน 2‒6 สัปดาห์ โดยให้งดการสระผมในช่วงแรกที่ยังมีการพันแผลอยู่เพื่อป้องกันแผลโดนน้ำ
2. ไหมที่ใช้ในการเย็บแผลมีทั้งไหมละลายที่สามารถละลายได้เอง และไหมที่ต้องให้แพทย์เป็นผู้นำออกให้ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไหมหรือแผลที่ผ่าตัดให้ได้มากที่สุด
3. ระมัดระวังไม่ไปสัมผัสหรือกระแทกโดนบริเวณแผลผ่าตัด เช่น หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงเพื่อป้องกันแผลจากการโดนกดทับ เลือกสวมเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อมีกระดุมแทนการสวมเสื้อยืดเพราะอาจทำให้แผลโดนเสียดสีได้ เป็นต้น
4. แผลเย็บมักทำให้เกิดอาการคัน ควรหลีกเลี่ยงการเกาหรือถูบริเวณแผล
5. หากมีอาการปวด สามารถบรรเทาอาการด้วยการรับประทานยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน
6. รักษาความสะอาดของแผล ร่างกาย และเปลี่ยนผ้าพันแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
หลังจากการผ่าตัดราว 1‒2 สัปดาห์ ผู้เข้ารับการผ่าตัดส่วนใหญ่สามารถกลับไปเรียนหรือทำกิจกรรมทั่วไปได้ตามปกติ และอาจเริ่มทำกิจกรรมที่ได้รับแรงกระแทกได้หลังผ่านไป 12 สัปดาห์ อย่างการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ โดยในระหว่างนั้นควรงดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระแทกบริเวณแผลผ่าตัด ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกิจกรรมหรือกีฬาที่สามารถทำได้
ความเสี่ยงและข้อจำกัดในการศัลยกรรมหูกาง
การผ่าตัดเพื่อตกแต่งใบหูมีความเสี่ยงและข้อจำกัดที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรทราบดังนี้
1. ลักษณะของใบหูอาจดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ตรงกับที่ตั้งไว้ก่อนผ่าตัด หรือหูไม่เท่ากันได้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม
2. เพื่อให้ใบหูทั้งสองข้างดูสมดุลและใกล้เคียงกันมากที่สุด แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดหูทั้งสองข้าง แม้ว่าจะมีหูข้างเดียวที่กาง
3. หลังการผ่าตัดมีโอกาสเกิดแผลเป็น คีลอยด์ และรอยตะเข็บ แต่รอยแผลเหล่านี้จะอยู่บริเวณรอบพับหูที่เป็นตำแหน่งการผ่าตัด ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก
4. การติดเชื้อบริเวณกระดูกอ่อนใบหูหรือแผลผ่าตัดสามารถเกิดขึ้นได้ หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างการปวดบวมแดงบริเวณหู เป็นหนอง หรือมีไข้ ควรไปพบแพทย์ทันที
5. หลังการผ่าตัดอาจมีเลือดออกมากผิดปกติหรือมีก้อนเลือดบริเวณแผลผ่าตัด (Hematoma Formation)
6. ผลข้างเคียงจากยาสลบ เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเวียนศีรษะ เป็นต้น
7. ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจมีความรู้สึกบริเวณหูเปลี่ยนไป เกิดอาการชาหรือรับความรู้สึกได้น้อยลง เนื่องจากบริเวณหูมีเส้นประสาทจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงมักเกิดเพียงชั่วคราว ยกเว้นบางรายอาจมีอาการถาวรได้
นอกจากนี้ การศัลยกรรมหูกางอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจมีความเสี่ยงอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเข้ารับการศัลยกรรม ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด