สักคิ้ว ข้อควรรู้ ขั้นตอน และแนวทางการดูแลตัวเองหลังสัก

การสักคิ้ว เป็นการเสริมความงามและบุคลิกภาพสำหรับผู้ที่ไม่มีขนคิ้ว มีขนคิ้วน้อย  มีขนคิ้วบางส่วนไม่เป็นระเบียบ หรือไม่เป็นทรงสวยงามตามความชอบของบุคคลนั้น หรือเพื่อลดเวลาในการแต่งหน้า เพราะคิ้วที่สักแล้วจะคงอยู่เป็นเวลาหลายปี การสักคิ้วไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเพิ่มเทคนิคให้ดูสมจริงและมีมิติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การสักเป็นเทคนิคเสริมความงาม ซึ่งไม่ได้ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ไม่ใช่การรักษาหรือบำบัด เป็นการให้บริการในสถานประกอบการนอกโรงพยาบาล ผู้ที่ต้องการสักคิ้วจึงควรศึกษาข้อมูลและวิธีการให้ดีก่อนตัดสินใจ

Eyebrows Tattooing

ข้อจำกัดในการสักคิ้วที่ควรรู้

การสักคิ้วมีข้อจำกัดที่ผู้ต้องการทำควรศึกษาก่อนตัดสินใจดังนี้

  • การสักคิ้วเป็นการเสริมความงาม ไม่ใช่การบำบัดรักษาทางการแพทย์ จึงไม่มีการรับรองทางการแพทย์ใด ๆ ว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจตามมา
  • แม้จะเป็นการสักถาวร แต่สีที่ปรากฏในรอยสักนั้นจะค่อย ๆ จางลงเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่สักคิ้วจึงอาจต้องไปสักซ้ำเรื่อย ๆ
  • ในอนาคตข้างหน้า แฟชั่นและสไตล์คิ้วอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสนิยม การสักคิ้วจะส่งผลระยะยาวบนใบหน้าของผู้ที่ไปสัก เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก
  • หากเกิดข้อผิดพลาดใด ๆ ในกระบวนการสัก ผู้ที่สักต้องแก้ไขด้วยเลเซอร์ลบรอยสัก ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยาก และอาจไม่สามารถลบรอยสักออกไปได้ทั้งหมด
  • การสักที่ไม่มีมาตรฐาน ไม่สะอาดและไม่ปลอดภัย หรือแม้แต่ในช่วงการดูแลตนเองหลังการสัก อาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อต่าง ๆ 
  • ผู้ที่จะสักคิ้วต้องมีอายุอยู่ในช่วงที่เหมาะสม สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ เนื่องจากการสักคิ้วมีค่าใช้จ่ายในการสัก และหากเกิดผลข้างเคียงหรือไม่เป็นที่พอใจ การลบรอยสักหรือการรักษาล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งสิ้น การสักคิ้วเป็นการเสริมความงามที่ส่งผลในระยะยาว ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจสัก

การเตรียมตัวก่อนไปสักคิ้ว

ผู้ที่สนใจคิ้วควรศึกษาถึงผลกระทบทางสุขภาพโดยปรึกษาแพทย์ก่อนสัก เพราะการสักอาจมีผลกระทบต่อโรค อาการเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญ หรืออาจส่งผลต่อการรักษาใด ๆ ในอนาคตได้ เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ต่อสีที่ใช้ในการสัก หรือผู้ที่มีรอยแผลเป็นนูน (คีลอยด์) ไม่ควรสัก

เมื่อมั่นใจแล้วว่าการสักจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการสักดังนี้

  • ควรเลือกสักกับช่างผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรองวิชาชีพหรือได้รับการอบรมหลักสูตรการสักและการใช้อุปกรณ์การสักอย่างถูกต้อง
  • สถานที่ประกอบการต้องสะอาด อยู่ในสถานที่เปิดเผย และมีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งเชื่อถือได้
  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสัก เข็ม  หรือสีที่ใช้  ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเชื้อ หรือล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อนนำมาสักเสมอ ควรแยกหลอดสีในลูกค้าแต่ละราย ไม่ใช้ร่วมกันเพราะอาจทำให้ติดเชื้อ
  • ค่าใช้จ่ายในการสักต้องเป็นราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพที่ได้รับ
  • ศึกษาขั้นตอนการสักคิ้ว การเตรียมตัว การดูแลตนเองหลังการสัก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางในการรักษาแก้ไขหากเกิดปัญหาภายหลัง
  • ศึกษารูปทรง ตำแหน่ง และสีของคิ้วที่ต้องการสักให้เหมาะสมกับใบหน้า โดยอาจปรึกษากับบุคคลใกล้ชิดและช่างผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการศึกษาภาพตัวอย่างก่อนและหลังสักคิ้วของผู้ที่เคยสักกับสถานประกอบการนั้น

ขั้นตอนในการสักคิ้ว

การสักคิ้วโดยทั่วไปมักมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ก่อนสักคิ้ว ต้องทดสอบผิวหนังด้วยแผ่นทดสอบผื่นแพ้ (Patch Test) ว่าแพ้สีที่จะใช้สักหรือไม่
  2. ช่างสักจะใช้ปากกาวาดทรงคิ้วที่ต้องการลงไปบนผิวหนังบริเวณที่จะสัก
  3. ช่างจะทายาชาจนทั่วบริเวณที่จะสัก
  4. เมื่อยาชาออกฤทธิ์ ช่างจะเริ่มใช้เข็มสักเจาะลงไปใต้ผิวหนังชั้นบนสุดทีละจุด เพื่อให้เม็ดสีเข้าไปอยู่ใต้ผิวตามตำแหน่งที่ต้องการ โดยเม็ดสีจะถูกหยดลงไปในรูผิวหนังที่ถูกเข็มเจาะ ในขณะที่สักคิ้ว ผู้ที่ถูกสักอาจรู้สึกเจ็บคล้ายถูกผึ้งต่อย

โดยปกติแล้วการสักคิ้วมักจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง หลังสักคิ้วเสร็จ ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ รอยสักจะบวมแดง คิ้วที่สักมาอาจจะรู้สึกคันและรู้สึกเหมือนผิวแห้งบริเวณรอยสักซึ่งกำลังฟื้นตัว โดยในระยะแรกคิ้วที่สักมาจะมีสีเข้มทึบ และจะค่อย ๆ จางลงกลายเป็นสีถาวรภายในเวลาประมาณ 4 สัปดาห์

เมื่อรอยสักเข้าที่แล้ว อาจต้องไปสักซ้ำเพื่อเติมสีและความเข้มของเส้นอีกใน 4-6 สัปดาห์ให้หลัง หรืออาจเป็น 1-3 ปี หลังรอยสักจางลงแล้ว

การดูแลตนเองหลังสักคิ้ว

หลังสักคิ้วอาจใช้วิธีต่อไปนี้ในการดูแลตนเองเพื่อลดอาการบวมอาจเกิดจากการสักคิ้ว รวมทั้งป้องกันรอยสักที่ยังไม่เข้าที่ไม่ให้เกิดความเสียหาย

  • ใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อลดอาการบวม และใช้ยาปฏิชีวนะแบบครีมทาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้รอยสักโดนแสงแดด และห้ามทาครีมกันแดดเป็นเวลาหลาย ๆ สัปดาห์หลังสัก เพื่อไม่ให้ครีมกันแดดทำปฏิกิริยาจนสีของรอยสักเปลี่ยนแปลง
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้รอยสักโดนน้ำ ไม่แช่ตัวในอ่างอาบน้ำนานเกินไป และไม่ว่ายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำในสระว่ายน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรีนสูง เป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังสัก หรือจนกว่ารอยสักจะเข้าที่ เพื่อป้องกันสีที่สักหลุดลอกออก และป้องกันการอักเสบติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้
  • เมื่อรอยสักเข้าที่และอาการข้างเคียงต่าง ๆ หายสนิทประมาณ 2 สัปดาห์หลังสัก ผู้ที่สักจะสามารถกลับไปใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เครื่องสำอางและครีมบำรุงเสริมความงามได้ตามปกติ

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการสักคิ้ว

แม้จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย แต่ผู้ที่สักคิ้วควรหมั่นสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณปัญหาสุขภาพ หากพบสิ่งผิดปกติ ควรสอบถามสถานประกอบการที่ไปสักมา หรือปรึกษาแพทย์

โดยปัญหาที่อาจพบได้หลังการสักคิ้ว ได้แก่

  • ได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ และแก้ไขได้ยาก
  • เกิดการอักเสบ หรือเกิดตุ่มเนื้ออักเสบเล็ก ๆ นูนขึ้นใต้ผิวหนังรอบ ๆ รอยสัก
  • ผิวหนังเกิดอาการแพ้ เช่น บวม คัน มีรอยแตก ผิวลอกออก หรือมีตุ่มพองใส
  • มีรอยแผลเป็น หรือมีเนื้อเยื่อก่อตัวเป็นแผลเป็นขึ้นจำนวนมาก
  • ติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ติดโรคไวรัสตับอักเสบ

การลบรอยสักคิ้ว

หากสักคิ้วแล้วไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือไม่ต้องการมีรอยสักที่คิ้วอีกต่อไป ผู้ที่สักต้องไปเลเซอร์ลบรอยสักจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตถูกต้องในการรักษาด้วยเลเซอร์ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้เลเซอร์ตามชนิดและสีของรอยสัก โดยต้องโกนขนในบริเวณที่จะเลเซอร์ออกก่อน อาจทายาชาเฉพาะบริเวณที่จะใช้เลเซอร์ลบรอยสัก ซึ่งใช้เวลาทำเลเซอร์ในแต่ละครั้งประมาณ 10–30 นาที

แม้พลังงานในเลเซอร์จะช่วยกำจัดรอยสักที่ไม่ต้องการออกไป แต่การเลเซอร์ลบรอยสักก็มีข้อจำกัด เช่น

  • การเลเซอร์ลบรอยสักต้องทำติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง ภายในเวลา 6–8 สัปดาห์ กว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน
  • แม้เลเซอร์จะช่วยลบเลือนเม็ดสีในรอยสักได้ แต่อาจไม่สามารถลบรอยสักทั้งหมดออกไปได้ หลังเลเซอร์อาจยังคงมีร่องรอยการสักเดิมปรากฏอยู่บนผิวหนังบ้าง
  • เม็ดสีบางเฉดสีก็ไม่สามารถลบออกไปได้
  • ไม่ควรทำเลเซอร์บนผิวที่คล้ำหรือผิวที่ไหม้เกรียมจากแสงแดด หรือผิวแทนจากการอาบแดด
  • ไม่ควรทำเลเซอร์กับผู้หญิงตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ
  • อาจมีผลข้างเคียงหลังการทำเลเซอร์ เช่น มีเลือดออกบริเวณที่เลเซอร์ สีผิวบริเวณที่เลเซอร์ไม่กลมกลืนกับผิวโดยรอบ อาจเกิดรอยแผลเป็นถาวร หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อได้
  • ผู้ที่ลบรอยสักด้วยเลเซอร์ต้องดูแลตนเองคล้ายกับผู้ที่ได้รับการสัก ต้องหลีกเลี่ยงแผลบริเวณที่ลบรอยสักไม่ให้สัมผัสกับน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ น้ำหอม การว่ายน้ำ การอบซาวน่า และการทำกิจกรรมที่ใช้แรงหนัก ๆ หลังทำเลเซอร์เป็นเวลาหลายวัน