สมาธิสั้นในผู้ใหญ่กับการดูแลที่เหมาะสม

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่สามารถพบได้ทั่วไปเช่นเดียวกับในเด็ก โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่อาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) เป็นโรคทางจิตเวชที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่หรือในวัยอื่นที่แน่ชัด

แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติระหว่างการเจริญเติบโต ความผิดปกติในระบบประสาท พฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย หรือการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันเป็นเวลานาน การใช้สารเสพติด หรือการสัมผัสสารตะกั่วหรือโลหะ

สมาธิสั้นในผู้ใหญ่กับการดูแลที่เหมาะสม

อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ที่พบได้บ่อย

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่อาจยากต่อการวินิจฉัยกว่าวัยอื่น ๆ และผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่เด็ก จึงไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อาการที่พบได้บ่อยของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มีดังนี้

  • ไม่มีสมาธิหรือไม่สามารถจดจ่อได้ ทำให้การทำงานให้เสร็จทีละอย่างทำได้ยาก
  • ขี้หลงขี้ลืม ลืมสิ่งที่ต้องทำหรือได้รับมอบหมาย รวมถึงลืมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น
  • พูดแทรกบ่อยหรือโต้ตอบอย่างรวดเร็ว
  • มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน มีอารมณ์ตึงเครียดบ่อยครั้ง
  • จัดการความเครียดที่เกิดขึ้นได้ลำบากหรือจัดการได้ไม่ดี
  • มีปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือชีวิตคู่ เพราะผู้ป่วยมักไม่สามารถจดจ่อเพื่อรับฟังอีกฝ่ายได้ และตัวผู้ป่วยเองก็อาจไม่เข้าใจถึงอารมณ์ของอีกฝ่าย
  • ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจนนำไปสู่ปัญหาด้านการทำงาน
  • เริ่มต้นทำกิจกรรมหรือภาระหน้าที่ใหม่ได้ยากหรือรู้สึกไม่เต็มใจทำ ทำให้ผัดวันประกันพรุ่งอยู่บ่อยครั้ง

สมาธิสั้นในผู้ใหญ่ รับมืออย่างไรได้บ้าง

สมาธิสั้นในผู้ใหญ่สามารถดูแลด้วยวิธีต่าง ๆ ร่วมกับการไปพบแพทย์เพื่อการรักษา ดังนี้

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

ผู้ที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่อาจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวัน โดยอาจจดใส่สมุดโน้ต จดในแอปพลิเคชันที่ช่วยแจ้งเตือน หรือเขียนใส่กระดาษแล้วแปะไว้ในจุดที่เห็นได้ง่าย รวมทั้งควรทำสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำจนเป็นกิจวัตรเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย หรืออาจให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดสรรเวลาการนอนให้เพียงพอโดยอาจเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันของทุกวัน หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน และควรจัดการความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสมหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ เช่น การฟังเพลง การฝึกสมาธิ การฝึกหายใจหรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

การใช้ยา

ตัวยาที่มักใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท อย่างยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) หรือยาแอมเฟตามีน (Amphetamine) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและปรับปริมาณสารเคมีในสมองของผู้ป่วยให้สมดุล

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาต้านเศร้า เช่น ยาบูโพรพิออน (Bupropion) ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants) หรือเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยาอโทม็อกซิทีน (Atomoxetine) หรือยากวอนฟาซีน (Guanfacine)

ทั้งนี้ ชนิดของยาและปริมาณที่ใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา และหากเกิดผลข้างเคียงหลังการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

การบำบัด

ผู้ป่วยควรเข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้และปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการรับยา โดยตัวอย่างของการบำบัดที่เหมาะสมกับอาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ เช่น

  • การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นหรือความผิดปกติทางจิตเวชด้านอื่น ๆ สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมได้ ปรับเปลี่ยนความคิดในด้านลบให้เป็นด้านบวก และช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น
  • การทำพฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการควบคุมและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ
  • การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น รับมือกับอาการขาดความยับยั้งชั่งใจ ช่วยให้จัดการเวลาหรือทักษะในการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานดีขึ้น และช่วยในการควบคุมความโกรธ

ดังนั้น ผู้ที่สังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจิตเวชอื่น ๆ เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว (Intermittent Explosive Disorder: IED)

อีกทั้งการป่วยด้วยโรคสมาธิสั้นในระยะยาวอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ มีอารมณ์อ่อนไหวเกินไปจนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือนำไปสู่การหย่าร้าง และอาจเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยเช่นกัน