สมุนไพรรักษาริดสีดวง คลายทุกข์ บรรเทาปวด
ริดสีดวงเป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนเจ็บปวดทรมานและกังวลใจ นอกจากการรักษาด้วยยาจากแพทย์ บางคนอาจเลือกพืชบางชนิดใช้เป็นสมุนไพรรักษาริดสีดวง เพราะเชื่อว่าศาสตร์จากธรรมชาติอาจช่วยบำบัดรักษาโรคและอาการป่วยได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรศึกษาคุณสมบัติของสมุนไพรแต่ละชนิดให้ดี รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาในภายหลัง
โรคริดสีดวงทวารเกิดจากเส้นเลือดบริเวณทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนักเกิดอาการโป่งพองอันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ จนทำให้มีอาการ เช่น ถ่ายเป็นเลือด เจ็บปวดระคายเคือง หรือมีก้อนคันบวมบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ส่วนผู้ป่วยบางรายอาจดูแลอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งการใช้สมุนไพรต่าง ๆ ที่มีสรรพคุณทางการรักษาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่อาจช่วยได้ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสมุนไพรบางชนิดที่อาจช่วยรักษาบรรเทาอาการริดสีดวงทวารได้ ดังต่อไปนี้
ว่านหางจระเข้ อุดมไปด้วย แร่ธาตุ วิตามิน เอนไซม์ น้ำตาล ลิกนิน ซาโปนิน แอนทราควิโนน กรดอะมิโน กรดไขมัน และกรดซาลิไซลิก ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคอย่างริดสีดวงได้ โดยงานค้นคว้ามากมาย พบว่าว่านหางจระเข้มีสรรพคุณต้านการอักเสบซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการอักเสบทางผิวหนังได้ จึงมีงานวิจัยหนึ่งทดลองใช้ครีมว่านหางจระเข้ทาบริเวณแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารของผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง ผลลัพธ์พบว่าครีมว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดบริเวณบาดแผลหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร ลดช่วงเวลาที่ใช้ในการขับถ่าย และลดช่วงเวลาในการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ครีมดังกล่าว
แม้ว่านหางจระเข้มีประสิทธิผลทางการรักษาที่อาจเป็นไปได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอ จึงควรมีการค้นคว้าทดลองในกลุ่มผู้ป่วยริดสีดวงโดยตรงต่อไป จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัด ซึ่งในระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ยาหรือครีมที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้รักษาริดสีดวงได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ และทดสอบอาการแพ้ก่อนนำไปใช้จริงด้วยการทาครีมจำนวนน้อยเป็นวงเล็ก ๆ ใต้ท้องแขนแล้วสังเกตสัญญาณอาการแพ้ภายใน 24-48 ชั่วโมง
คาโมมายล์
ดอกคาโมมายล์แห้งอุดมไปด้วยสารชีวภาพอย่างเทอร์พีนอยด์และฟลาโวนอยด์ที่มีคุณสมบัติทางการรักษาโรคอย่างหลากหลาย คนจึงนิยมบริโภคและใช้ประโยชน์จากคาโมมายล์
ในปัจจุบัน สายพันธุ์ที่มักถูกนำมาศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านนี้ คือ เยอรมันคาโมมายล์ และโรมันคาโมมายล์ จากการวิจัยบางส่วนพบว่า ดอกคาโมมายล์อาจมีสรรพคุณต้านการอักเสบ ป้องกันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ คลายความวิตกกังวล และต้านเชื้อจุลชีพ จึงนำดอกคาโมมายล์มาใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ เช่น ปวดข้อจากข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดประจำเดือน กล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ อาการทางผิวหนัง เช่น ฝี หนอง บาดแผล รวมถึงรักษาริดสีดวงทวารด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับคาโมมายล์น้อยมาก และไม่เพียงพอต่อการสรุปประสิทธิผลในด้านนี้ ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการใช้หรือรับประทานคาโมมายล์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยริดสีดวงหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนบริโภคเสมอ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคาโมมายล์จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร และทารกหรือไม่ อีกทั้งละอองเรณูในดอกคาโมมายล์อาจทำให้เกิดอาการแพ้ และคาโมมายล์อาจมีปฏิกิริยาต่อยารักษาต่าง ๆ จนรบกวนการรักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
ผักไผ่
ผักไผ่เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมรับประทานใบเป็นผักสดแกล้มเมนูอาหารประเภทลาบ หลู้ หรือยำต่าง ๆ แต่นอกจากรับประทานเป็นผักเครื่องเคียง ผักไผ่ยังประกอบไปด้วยสารเคมีธรรมชาติที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและอาจรักษาโรคบางชนิดได้ เช่น สารฟีนอล กรดแกลลิก และสารฟลาโวนอยด์อย่างเควอซีทิน ไมริซีทิน ไอโซเควอซิทริน เป็นต้น
จากการศึกษาสารประกอบในผักไผ่เหล่านี้ คาดว่าผักไผ่อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น รักษาความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร อาการท้องเสีย ภาวะตกเลือด ตลอดจนอาจรักษาริดสีดวงทวาร แต่ขณะนี้ยังมีงานค้นคว้าประสิทธิภาพที่แน่ชัดของผักไผ่ต่อการรักษาบำบัดโรคน้อยมาก จึงควรศึกษาสรรพคุณของผักไผ่โดยเฉพาะด้านการรักษาริดสีดวงทวารให้ชัดเจน ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป
นอกจากสมุนไพร พืชชนิดอื่นรักษาริดสีดวงได้หรือไม่ ?
การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดริดสีดวง เพราะปัญหาท้องผูกและการขับถ่ายลำบากอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักโป่งพองจนเกิดริดสีดวงได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ข้าวกล้อง มะเขือเทศ แครอท บล็อคโคลี่ ส้ม กล้วย และแอปเปิ้ล อาจช่วยป้องกันและรักษาริดสีดวงทวารได้ แต่หากผู้ป่วยมีภาวะที่ไม่สามารถรับประทานอาหารต่าง ๆ เพื่อรับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมชนิดต่าง ๆ โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยริดสีดวงควรสังเกตอาการป่วยของตน หากไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง อาการไม่ดีขึ้น หรือพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
- บริเวณที่เป็นริดสีดวงมีอาการรุนแรงขึ้น
- ถ่ายเป็นเลือดถี่ขึ้น และมีเลือดปริมาณมาก หรือสีของอุจจาระเปลี่ยนไป
- มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
หากผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการของตน ต้องการคำแนะนำในการบริโภคอาหาร หรือต้องการใช้ยาสมุนไพรใด ๆ รักษาอาการด้วยตนเอง ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องและอาจให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาบางชนิด หรืออาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดหากมีความจำเป็นต่อไป