สมุนไพรรักษาสิวยอดนิยม ได้ผลจริงหรือไม่

สมุนไพรรักษาสิวชนิดต่าง ๆ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ หลายคนจึงเชื่อว่าน่าจะปลอดภัยต่อผิวหน้ามากกว่าผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดที่อาจมีส่วนผสมจากสารเคมีอันตราย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์เพื่อบำรุงรักษาผิวหน้า รักษาสิวทั้งหลายก็เริ่มหันมาใช้สมุนไพรนานาชนิดเป็นหนึ่งในส่วนผสม ยิ่งตอกย้ำถึงคุณประโยชน์ของการใช้สมุนไพรในการรักษาสิวมากยิ่งขึ้น

สมุนไพรรักษาสิว

สิว เป็นภาวะอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นจากการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ที่อาจบวม อักเสบ หรือมีหนองขึ้นมาบนผิวหนัง พบได้มากตามใบหน้า ลำคอ หน้าอก ไหล่ และหลัง โดยเฉพาะสิวบนใบหน้าที่มักเป็นที่รบกวนใจจนอยากกำจัดให้พ้นโดยเร็ว ซึ่งหลาย ๆ คนก็เลือกใช้วิธีการธรรมชาติอย่างการใช้สมุนไพรที่เชื่อว่ามีคุณสมบัติในการกำจัดสิว สมุนไพรรักษาสิวที่นิยมใช้กันเหล่านี้ช่วยได้จริงหรือไม่และมีความปลอดภัยต่อผิวหน้ามากน้อยเพียงใด

น้ำมะนาว หนึ่งในพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่เชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาสิว ซึ่งวิธีที่แนะนำกันอย่างแพร่หลายก็สามารถทำตามได้อย่างง่ายดาย เพียงบีบน้ำมะนาวเล็กน้อย แล้วใช้สำลีจุ่มแต้มจุดที่เป็นสิวทิ้งไว้สัก 10 นาทีหรือรอจนแห้งแล้วค่อยล้างออก ทำให้กลายเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

สาเหตุที่มีการนำน้ำมะนาวมาใช้รักษาสิวก็เพราะมะนาวเป็นผลไม้ตระกูลส้ม ซึ่งประกอบด้วยกรดธรรมชาติอย่างอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acid: AHA) เมื่อทาลงบนผิวหนังจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งนอกจากคุณสมบัติกระชับรูขุมขนและต้านแบคทีเรียที่ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวได้เป็นอย่างดีนี้ ยังคาดว่าน้ำมะนาวอาจช่วยลดรอยแผลเป็นจากสิวได้อีกด้วย

การทดสอบเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของการใช้น้ำมะนาวช่วยแก้ปัญหาสิวโดยตรงนั้นยังมีไม่มากนัก งานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งศึกษาคุณสมบัติของมะนาวเหลือง (Lemon) โดยใช้น้ำมะนาวที่มีความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ 60 เปอร์เซ็นต์ 80 เปอร์เซ็นต์ และ100 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่ช่วยในการรักษาสิว ผลลัพธ์พบว่าน้ำมะนาวเหลืองทุกความเข้มข้นล้วนสามารถฆ่าแบคทีเรียพี แอคเน่ (Propionibacterium Acnes) ซึ่งเป็นตัวการหลักของการเกิดสิวได้เป็นอย่างดี ส่วนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้านั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเท่านั้น

ถึงอย่างนั้นก็ตาม มะนาวเหลืองที่ว่านี้มักพบในต่างประเทศ มีลักษณะต่างจากมะนาวเขียวที่พบได้ทั่วไปในบ้านเรา จึงยังไม่แน่ว่าจะใช้แทนกันได้หรือไม่ แต่ก็อาจเป็นไปได้ เพราะผลการศึกษาที่ใกล้เคียงบางงานชี้ว่าน้ำจากผลไม้ตระกูลส้มอาจมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบได้จริง ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบทั้งหลาย รวมถึงการอักเสบของสิวไปด้วย

น้ำมะนาวถูกนำมาใช้ปรุงอาหารและสามารถรับประทานได้อย่างปกติโดยไม่มีอันตรายใด ๆ ในปริมาณที่พอดี แต่หากต้องการลองใช้น้ำมะนาวทาบนใบหน้าหรือผิวหนังเพื่อช่วยบำรุงผิวหรือรักษาสิวจะต้องระมัดระวังสักหน่อย เนื่องจากการทาน้ำมะนาวอาจส่งผลให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดและเสี่ยงต่อผิวไหม้ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวขาว ดังนั้นหลังจากการใช้น้ำมะนาวทาผิวจึงยังไม่ควรออกไปเผชิญแสงแดดที่มากเกินไปทันที หรือควรป้องกันด้วยการทาครีมกันแดดให้ดีเสียก่อน

ว่านหางจระเข้ อีกหนึ่งสมุนไพรที่เป็นที่กล่าวขานเกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านความสวยความงามและการบำรุงผิวพรรณ จนมีการนำเจลว่านหางจระเข้มาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อความงามจำนวนมาก เนื่องจากมีการกล่าวอย่างกว้างขวางว่าอาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาแผลและบรรเทาการอักเสบของผิวหนัง จึงกลายเป็นอีกทางเลือกธรรมชาติสำหรับการรักษาสิวที่เชื่อว่าจะให้ผลดีขึ้นได้

งานวิจัยหนึ่งกล่าวว่าเจลว่านหางจระเข้น่าจะมีส่วนช่วยรักษาสิว หลังจากทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ว่านหางจระเข้ 50 เปอร์เซ็นต์รักษาสิวร่วมกับยาทารักษาสิวอย่างเตรทติโนอิน (Tretinoin) ความเข้มข้น 0.05 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับการใช้ยาเตรทติโนอินเพียงอย่างเดียว โดยแบ่งกลุ่มผู้ทดลองที่เป็นสิวเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 60 คน ทดสอบเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ปรากฏว่าการใช้ว่านหางจระเข้ผสมกับยารักษาสิวชนิดนี้สามารถช่วยรับมือกับปัญหาสิวได้ดีและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ยาเตรทติโนอินเพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน ทดลองโดยการเปรียบเทียบผลลัพธ์การใช้ว่านหางจระเข้รักษาสิวร่วมกับน้ำมันจากพืชตระกูลกะเพราและยารักษาสิวอย่างคลินดามัยซิน (Clindamycin) ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ทดลอง 84 คน ทุก ๆ วันนาน 4 สัปดาห์ พบว่าโลชั่นรักษาสิวที่ทำจากพืชตระกูลกะเพราจะยิ่งมีประสิทธิภาพดีเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของว่านหางจระเข้ที่ผสมให้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่จะช่วยบรรเทาการอักเสบของสิวได้ดีที่สุดและยังออกฤทธิ์เร็วกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันใบโหระพาแบบธรรมดา ทว่าการใช้เจลว่านหางจระเข้เพียงอย่างเดียวนั้นกลับช่วยรักษาสิวได้ไม่เห็นผลมากนัก คาดว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าว่านหางจระเข้นี้ช่วยรักษาสิวได้จริงหรือไม่ และในรูปแบบใดจึงจะได้ผลดีที่สุด

การใช้เจลว่านหางจระเข้ทาบนผิวหนังเพื่อเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวถือว่าค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนเสียทีเดียว โดยเฉพาะการทาเจลว่านหางจระเข้ในเด็กที่ควรใช้อย่างระวังมากกว่าผู้ใหญ่ และหากต้องการรับประทานว่านหางจระเข้ในรูปแบบใดก็ตามก็ควรศึกษาคำเตือนก่อนใช้ต่อไปนี้

  • การรับประทานว่านหางจระเข้อาจไม่เป็นอันตรายหากใช้อย่างเหมาะสมในช่วงเวลาไม่นาน โดยปริมาณที่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยคือ 15 มิลลิลิตรต่อวัน และไม่ใช้นานเกินกว่า 42 วัน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเจลว่านหางจระเข้ที่ความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์สามารถรับประทานได้วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์
  • การรับประทานน้ำยางจากว่านหางจระเข้อาจไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานในปริมาณมาก ผลข้างเคียงที่อาจตามมา ได้แก่ ปวดหรือปวดบีบท้อง หากยังใช้ต่อไปนาน ๆ ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้มีอาการท้องเสีย เกิดปัญหาเกี่ยวกับไต ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีเลือดออกในปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลด หรือเกิดความผิดปกติต่อหัวใจได้ ยิ่งไปกว่านั้น การรับประทานยางว่านหางจระเข้วันละ 1 กรัม ติดต่อกันหลายวันยังอาจทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเลี่ยงรับประทานทั้งเจลหรือยางว่านหางจระเข้ เพราะอาจไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการแท้งและภาวะพิการแต่กำเนิดตามมาได้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่รับประทานยางหรือสารสกัดจากใบว่านหางจระเข้อาจมีอาการข้างเคียงอย่างปวดท้อง ปวดบีบ และท้องเสีย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้
  • ผู้ป่วยโรคไต โรคริดสีดวงทวารและโรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน หรือโรคโครห์น ห้ามรับประทานยางของว่านหางจระเข้
  • ผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานหรือกำลังต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เนื่องจากอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง และหากต้องผ่าตัดก็ควรหยุดใช้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดจะมาถึง

น้ำผึ้ง อาหารจากธรรมชาติที่ไม่เพียงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์หรือสูตรบำรุงผิวมากมาย แต่ยังมีการกล่าวถึงคุณประโยชน์ด้านการช่วยรักษาสิวเช่นกัน โดยน้ำผึ้งที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ก็คือ น้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) ซึ่งได้จากดอกของต้นมานูก้า พืชท้องถิ่นแห่งประเทศนิวซีแลนด์ สรรพคุณดังกล่าวอ้างจากหลายงานวิจัยที่พบว่าน้ำผึ้งชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยในการสมานแผลและต้านแบคทีเรียสูง และนักวิจัยยังพบว่าการใช้ผ้าพันแผลชนิดชุ่มน้ำผึ้งรักษาแผลได้รับการยอมรับจากหลายโรงพยาบาลและคลินิกทั่วโลก แต่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการทำงานของน้ำผึ้งชนิดนี้ จึงมีการทดสอบคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของน้ำผึ้งที่แตกต่างกัน 3 ชนิดขึ้น ผลปรากฏว่าน้ำผึ้งมานูก้ามีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับอีก 2 ชนิด

ปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าน้ำผึ้งช่วยรักษาสิวได้จริงหรือไม่ มีเพียงบางงานวิจัยที่กล่าวถึงคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและลดการอักเสบ ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่กระตุ้นให้สิวก่อตัวขึ้น สอดคล้องกับอีกหลายงานวิจัยที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าน้ำผึ้งมีคุณสมบัติต้านจุลชีพ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ในแผลที่ติดเชื้อและคอยช่วยในการสมานเนื้อเยื่อแผล การใช้น้ำผึ้งทาลงบนผิวบริเวณที่เป็นสิวจึงอาจเป็นวิธีทำความสะอาดสิ่งสกปรก ลดการติดเชื้อ ลดอาการเจ็บ และช่วยให้แผลรักษาตัวได้เร็วยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ในการรักษาสิวของน้ำผึ้งที่เฉพาะเจาะจงเพิ่มเติมต่อไป

ผู้ที่ต้องการใช้น้ำผึ้งทาลงบนสิวหรือแผลต่าง ๆ รวมถึงการรับประทานน้ำผึ้งโดยหวังคุณประโยชน์ด้านใดก็ตามควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ต่อไปนี้

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไปอาจสามารถรับประทานน้ำผึ้งได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการใช้น้ำผึ้งทาบนผิวหนังในผู้ใหญ่
  • การให้ทารกหรือเด็กที่ยังเล็กเกินไปรับประทานน้ำผึ้งอาจเป็นอันตราย และไม่ควรให้น้ำผึ้งดิบกับทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือนเด็ดขาด เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากสารโบทูลินั่มต่อร่างกายได้
  • หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่ให้นมบุตรอาจรับประทานน้ำผึ้งได้อย่างปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหาร ทั้งนี้การกลายเป็นพิษต่อร่างกายของน้ำผึ้งที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กและทารกจะไม่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
  • การรับประทานน้ำผึ้งเพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ ในหญิงที่ต้องให้นมบุตรยังไม่สามารถยืนยันถึงความปลอดภัยได้อย่างแน่ชัด เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ในระยะนี้
  • ผู้ที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ้งผลิตมาจากเกสรดอกไม้ จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

ความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรรักษาสิว

การใช้ยารักษาสิวใด ๆ ก็ตามที่สรรหามาใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ รวมถึงสมุนไพรหรือสูตรลับทั้งหลายนั้นไม่อาจรับประกันได้ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หากใช้แล้วไม่ได้ผล หรือสิวยังคงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือทวีความรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับประเภทและลักษณะความรุนแรงของสิวจะให้ผลดีและปลอดภัยที่สุด

ทั้งนี้ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปหลังจากทายาหรือสมุนไพรรักษาสิวก็คือผิวหนังแดง ระคายเคือง หรือรู้สึกคันขึ้นมา ซึ่งอาจไม่เป็นอันตรายหากผิวไม่แดงจนเกินไปหรือเกิดอาการไหม้ แต่ควรเฝ้าดูอาการอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่กำลังเผชิญไม่ใช่อาการแพ้ที่รุนแรง เช่น หายใจลำบาก รู้สึกคล้ายจะเป็นลม ลิ้น ปาก ใบหน้า ดวงตาบวม หรือรู้สึกแน่นในลำคอ หากสังเกตพบอาการเหล่านี้ควรต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

การรักษาสิวโดยแพทย์มีหลากหลายวิธีที่แพทย์สามารถเลือกใช้ โดยมักพิจารณาตามความรุนแรงและชนิดของสิวที่เป็น ทั้งนี้สิวที่ไม่มีการอักเสบรุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรักษาเลยก็ได้ เช่น สิวหัวดำ หรือสิวอุดตันทั่วไป ทว่าหากเป็นสิวที่อักเสบและอาจทิ้งร่องรอยแผลเป็นอย่างรอยแดง จุด หรือตุ่มนูนบนใบหน้าก็จำเป็นต้องรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อช่วยให้ใบหน้าเรียบเนียนและลบเลือนรอยสิวอย่างได้ผลดีที่สุด การรักษาที่แพทย์อาจแนะนำมีดังนี้

  • ยาทาเฉพาะที่ เป็นการใช้ยาแต้มบริเวณที่เกิดสิวหลังจากล้างหน้าให้สะอาดแล้ว โดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีจึงค่อยล้างออก การใช้ยาประเภทนี้อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ เรตินอยด์ (Retinoid) และยาปฏิชีวนะอย่างคลินดามัยซิน (Clindamycin) หรืออีริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น
  • ยารับประทาน บางกรณีแพทย์อาจสั่งจ่ายยาสำหรับรับประทาน เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ยาไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) รวมถึงยาปฏิชีวนะอย่างยากลุ่มเตตราซัยคลีน (Tetracycline) เพื่อลดการอักเสบของสิว
  • การรักษาอื่น ๆ เช่น การกดสิว การฉีดสเตียรอยด์ การผลัดเซลล์ผิว การฉายแสง
  • การรักษารอยแผลเป็นจากสิว ได้แก่ การฉีดฟิลเลอร์ การฉายแสง การผลัดเซลล์ผิว การกรอผิว การทำเลเซอร์ และการทำศัลยกรรมผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีใดก็อยู่กับความเหมาะสมต่อคนไข้แต่ละราย