ไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือดสูงส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจพัฒนาไปสู่โรคร้ายในอนาคต นอกจากการแพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพรเป็นอีกตัวเลือกที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือด แต่ข้อพิสูจน์ทางการแพทย์จริง ๆ แล้วกล่าวถึงสมุนไพรลดไขมันเหล่านี้ไว้อย่างไรบ้าง
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) จัดเป็นสารประกอบไขมันชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่สำคัญหลายประการ ส่วนใหญ่ถูกผลิตได้จากตับและได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป คอเลสเตอรอลจะถูกขนส่งไปยังอวัยวะและส่วนอื่นทั่วร่างกาย โดยไปจับตัวกับโปรตีนจนเป็นสารที่มีชื่อว่า ไลโปโปรตีน (Lipoprotein) อยู่ในเลือด เนื่องจากคุณสมบัติที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งไลโปโปรตีนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
- เอชดีแอล หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี (High-Density Lipoprotein: HDL) เป็นตัวนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเซลล์อื่น ๆ ไปกำจัดยังตับหรือขับออกจากร่างกายในรูปของเสีย จึงจัดเป็นไขมันชนิดดีที่ร่างกายควรมี
- แอลดีแอล หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) เป็นตัวนำคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ แต่เมื่อร่างกายมีมากจะทำให้เกิดการสะสมตามผนังหลอดเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดง จึงจัดเป็นไขมันชนิดไม่ดีที่ควรเลี่ยง
คอเลสเตอรอลในเลือดวัดได้จากการตรวจเลือด ซึ่งระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสมจะขึ้นกับความเสี่ยงทางสุขภาพของแต่ละคน โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงควรมีระดับคอเลสเตอรอลรวมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีควรไม่เกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และคอเลสเตอรอลชนิดดี ไม่ควรน้อยกว่า 50-60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่ช่วยในการพิจารณาคอเลสเตอรอลในเลือดอีกหลายส่วน
หากร่างกายมีการสะสมคอเลสเตอรอลในปริมาณมากจนเกินความต้องการ จะทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงหรือคอเลสเตอรอลสูงตามมา การควบคุมระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยลดความความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงทำให้สมุนไพรที่หาได้ง่ายในประเทศไทยและยังเชื่อกันว่ามีคุณสมบัติทางการแพทย์ตามตำรับยาโบราณถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
กระเทียม เป็นสมุนไพรที่ใช้อย่างแพร่หลาย มักใช้เพิ่มรสชาติในอาหารหรือรับประทานสด บางส่วนอ้างว่ากระเทียมมีฤทธิ์เป็นยา เพราะประกอบด้วยวิตามิน เกลือแร่ สารต่อต้านอนุมูลอิสระมากมาย โดยเฉพาะสารอัลลิซิน (Allicin) ที่เชื่อกันว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือสภาวะอื่น ๆ ทำให้ในปัจจุบันจึงมีการผลิตสารสกัดจากกระเทียมออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสะดวกต่อการรับประทานมากขึ้น
จากการทบทวนงานวิจัยจำนวน 39 ชิ้น เกี่ยวกับคุณสมบัติของกระเทียมต่อระดับคอเลสเตอรอลชนิดต่าง ๆ ในเลือดพบว่าผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลไขมันในเลือดสูง (มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) มีระดับไขมันลดลง 8% เมื่อรับประทานกระเทียมติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน ส่วนไขมันชนิดดีมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ระดับไตรกลีเซอไรด์ไม่ค่อยพบการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกชิ้นกลับได้ผลที่แย้งกัน ในการทดลองจะแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มและให้รับประทานกระเทียมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีสารอัลลิซินในปริมาณที่คาดว่าจะช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดลง และตรวจวัดระดับไขมันในเลือดทุกเดือนจนครบกำหนด 6 เดือน พบว่า ระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดดีและไม่ดี ไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันในเลือดชนิดอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังมีการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกันอีก 1,056 ชิ้น ก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับคอเลสเตอรอลชนิดต่าง ๆ ในเลือดเช่นกัน
ทั้งนี้ จากงานวิจัยที่กล่าวมายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่ากระเทียมสามารถลดคอเลสเตอรอลได้ เพราะตัวอย่างในงานวิจัยไม่สามารถแทนคนได้ทุกกลุ่ม รวมถึงปริมาณการรับประทานกระเทียมที่แตกต่างกัน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคอีกมากมาย หากต้องการลองรับประทานกระเทียมก็อาจเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ และยังมีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้
- กระเทียมดิบอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบุคคลบางกลุ่มที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนกลางทรวงอก เป็นต้น
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดหรืออยู่ในช่วงการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดควรระมัดระวังการรับประทานกระเทียม เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ
- การรับประทานกระเทียมควบคู่กับยาบางชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพยาลดลง เช่น ยาซาควินาเวียร์ ที่เป็นยาต้านไวรัส จึงควรแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ
- การรับประทานกระเทียมปริมาณมากหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกระเทียมที่มีความเข้มข้นสูงสำหรับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย จึงควรหลีกเลี่ยงหรือปรึกษาแพทย์
- การรับประทานกระเทียมในปริมาณมากอาจทำให้มีกลิ่นตัวหรือกลิ่นปากรุนแรง
ขิง เป็นสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ด้านอาหารและยังใช้เป็นยาตำรับพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน โดยใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเหง้าหรือรากของต้นที่อยู่ใต้ดิน ขิงมักถูกนำมาใช้บรรเทาอาการหรือป้องกันโรคหลากหลาย รวมถึงเชื่อว่าสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากพบสารประกอบฟีนอลหลายชนิด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับระดับคอเลสตอลรอลในเลือดสูง
จากการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับคุณสมบัติของขิงต่อระดับคอเลสเตอรอลในกลุ่มคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยเปรียบเทียบกับยาหลอกเป็นเวลา 45 วัน ซึ่งในการทดลองได้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานขิงผงในรูปแบบแคปซูล วันละ 3 กรัม แบ่งรับประทาน 3 เวลา ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอก วันละ 3 กรัม แบ่งรับประทาน 3 เวลาเช่นเดียวกัน ผลพบว่า กลุ่มทดสอบที่รับประทานขิงผงมีระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคอเลสเตอรอลลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นก็พบว่า การรับประทานขิงวันละ 1 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 45 วัน สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงให้ลดลง
แม้ว่าจะมีข้อมูลสนับสนุนคุณสมบัติของขิงที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล แต่งานวิจัยบางส่วนยังได้ผลที่ไม่ชัดเจนและขัดแย้ง เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจรับประทานขิงผง วันละ 4 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาล และการแข็งตัวของเลือด พบว่า การรับประทานขิงไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด
จากงานวิจัยในข้างต้นจึงยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าขิงส่งผลอย่างไรต่อระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย จึงควรใช้อย่างระมัดระวังเหมือนกับการใช้สมุนไพรทั่วไป ซึ่งข้อควรรู้เกี่ยวกับการรับประทานขิงอย่างปลอดภัยมีดังนี้
- การรับประทานขิงที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อย เช่น มวนท้อง ปวดบีบ แสบร้อนกลางทรวงอก ท้องเสีย มีแก๊สในท้องมาก
- ไม่ควรรับประทานขิงมากกว่า 5 กรัมขึ้นไปต่อวัน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
- หากต้องการรับประทานขิงเพื่อช่วยรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
- การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมจากขิงร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาเจือจางเลือด ยารักษาโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาของยาตามมา จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
- สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานขิงในปริมาณมากโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยในการรับประทานขิงระหว่างการตั้งครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
ชาเขียว เป็นชาที่ผลิตได้จากต้นชาเช่นเดียวกับชาชนิดอื่น แต่กรรมวิธีการผลิตจะใช้ใบชาสดผ่านความร้อนในอุณหภูมิสูงและทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว จึงไม่สูญเสียสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ในระหว่างขั้นตอนการผลิต ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยลดความอ้วน
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าชาเขียวมีคุณสมบัติช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มชาเขียวของพนักงานชายหญิงชาวญี่ปุ่นที่มีสุขภาพดี อายุ 40-69 ปี จำนวน 13,916 คน พบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลงหลังการดื่มชาเขียว แต่ไม่มีผลต่อระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมันชนิดดี ส่วนการทบทวนงานวิจัยอีกชิ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของชาเขียวในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจก็ให้ผลออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยในการทดลองแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ๆ และให้ทดลองรับประทานชาเขียวติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน ซึ่งปริมาณและรูปแบบของชาเขียวจะแตกต่างกันออกไป ผลพบว่า ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองลดลง นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนงานวิจัยอีก 14 ชิ้น เกี่ยวกับเครื่องดื่มและสารสกัดจากชาเขียวต่อระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดดีและชนิดไม่ดี พบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี
จากข้อมูลข้างต้นเชื่อว่าการรับประทานชาเขียวอาจมีส่วนช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลรวมลง แต่มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่แนะนำว่าชาเขียวมีผลต่อระดับไขมันในเลือด และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาว เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด จึงยังไม่สามารถสรุปผลของชาเขียวที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ชัดเจน โดยทั่วไปการรับประทานชาเขียวในรูปแบบเครื่องดื่มหรือใช้เป็นส่วนผสมของอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ควรระมัดระวังผลข้างเคียงบางประการ ดังนี้
- ควรระมัดระวังการดื่มชาเขียวหรือรับประทานสารสกัดจากชาเขียวทุกรูปแบบที่มีความเข้มข้มสูง หรือใช้ติดต่อเป็นเวลานาน ยกเว้นชาเขียวที่สกัดคาเฟอีนออก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการสั่น กระสับกระส่าย ใจสั่น เป็นต้น
- สารสกัดชาเขียวที่มีความเข้มข้นสูงอาจส่งผลต่อการทำงานของตับ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ปัสสาวะเป็นสีคล้ำ หรือมีอาการตัวเหลืองควรหยุดรับประทานและไปพบแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณความผิดปกติจากการทำงานของตับ
- ก่อนเริ่มใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ควบคู่กับชาเขียว ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะชาเขียวอาจทำปฏิกิริยากับยาบางกลุ่มเมื่อมีการรับประทานร่วมกัน เช่น ยาในกลุ่ม Beta Blocker ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และการทำงานของหัวใจ
- สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรดื่มชาเขียวมากกว่า 2 แก้วต่อวัน เพราะมีความเสี่ยงในการแท้งบุตรหรือผลเสียอื่น ๆ จากคาเฟอีน
- สารคาเฟอีนในชาเขียวอาจส่งผลกระทบต่อความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวานควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเลือกใช้ชาเขียว เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยบางโรคทรุดลง เช่น โรคตับ มีอาการท้องเสีย เป็นโรคหิน โรควิตกกังวล หรือโรคโลหิตจาง เป็นต้น
ความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรลดไขมัน
แม้ว่าสมุนไพรหลายชนิดเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันในเลือดและเป็นอีกตัวเลือกที่มาจากธรรมชาติ แต่ในทางการแพทย์ยังไม่มีการรับรองประสิทธิภาพของการใช้สมุนไพรและยืนยันความปลอดภัยต่อร่างกาย สำหรับการรับประทานพืชผักสมุนไพรจากอาหารหรือเครื่องดื่มค่อนข้างปลอดภัยเมื่อรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม
ดังนั้น ก่อนการรับประทานหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากสมุนไพร เพื่อช่วยลดระดับไขมัน จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงในบางรายหรือทำปฏิกิริยากับยาบางกลุ่มที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่สามารถนำสมุนไพรมาช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้เพียงวิธีเดียว ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับคอเลสเตอรอลสูงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์
การลดระดับคอเลสเตอรอลในชีวิตประจำวัน
นอกจากการใช้ยาหรือการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนในชีวิตประจำวันสามารถช่วยลดระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลให้ลดลงด้วยหลักการง่าย ๆ ดังนี้
- ออกกำลังอย่างน้อยวันละ 30 นาที และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวันให้มากขึ้น เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์เมื่อขึ้นลงระยะสั้น ๆ หรือปั่นจักรยานไปทำงาน
- รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น โดยเฉพาะกากใยที่ละลายในน้ำจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้ลง เน้นการรับประทานธัญพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันทรานส์ (Trans Fat) และไขมันอิ่มตัวมากเกินไป ซึ่งพบได้มากในอาหารทอด ขนมกรุบกรอบ คุ้กกี้ เค้ก เพราะจะยิ่งช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากขึ้น และควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ที่บอกข้อมูลของสินค้าก่อนรับประทาน
- เลิกสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หลังการเลิกสูบบุหรี่ยังช่วยให้คอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น
อย่างไรก็ตาม แต่ละคนย่อมมีปัจจัยด้านสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ชีวิตค่อนข้างมีบทบาทสำคัญที่ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลลง แต่สำหรับบุคคลบางกลุ่มอาจต้องปรึกษาแพทย์ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยจัดการกับระดับคอเลสเตอรอลและความเสี่ยงของสุขภาพได้อย่างเหมาะสม