สะพานฟัน คืนความมั่นใจให้รอยยิ้ม

สะพานฟัน เป็นวิธีแก้ไขปัญหาการสูญเสียฟัน ช่วยทั้งด้านความสวยงามและสุขภาพช่องปากโดยรวม ก่อนทำสะพานฟันควรศึกษาข้อดี ข้อเสีย ขั้นตอนการทำ และวิธีดูแลปากและฟัน ก่อนตัดสินใจรับการรักษาด้วยวิธีนี้

สะพานฟัน

สะพานฟันคืออะไร ?

สะพานฟันคือรูปแบบของฟันปลอมแบบซี่เดียว โดยมีขอเกี่ยวยึดอยู่ด้านข้างสำหรับยึดกับฟันซี่ข้าง ๆ ของฟันที่หายไปเพื่อทดแทนช่องว่างระหว่างฟัน มีลักษณะคล้ายสะพานเชื่อม สะพานฟันที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ

  • สะพานฟันแบบธรรมดา ซึ่งจะใช้วิธีครอบฟันช่วยติดสะพานฟันเข้ากับฟันซี่ใกล้เคียง โดยมักผลิตจากเซรามิกล้วนหรือเซรามิกประเภทพอร์ซเลนผสมกับเหล็ก
  • สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว เป็นสะพานฟันที่ใช้วิธียึดฟันเทียมเข้ากับซี่ฟันจริงเพียงข้างเดียว นิยมใช้ในกรณีฟันซี่ในสุดหลุดไป
  • สะพานฟันที่ยึดด้วยวัสดุเรซิน หรือสะพานฟันแบบแมรีแลนด์ (Maryland Bridge) คือสะพานฟันที่ผลิตจากพอร์ซเลนหลอมเข้ากับเหล็ก นิยมใช้ในกรณีที่สูญเสียฟันหน้า

ทำไมต้องใส่สะพานฟัน ?

การใส่สะพานฟันมีจุดประสงค์เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป ซึ่งการสูญเสียฟันนั้นถือเป็นปัญหาช่องปากที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากฟันทุกซี่มีการทำงานที่สัมพันธ์กัน การสูญเสียฟันแม้เพียงซี่เดียวอาจส่งผลให้ฟันที่อยู่ใกล้เคียงเอียงหรือล้ม ทำให้ยากต่อการทำความสะอาดและอาจเกิดฟันผุตามมา ส่วนฟันที่อยู่ตรงข้ามอาจถูกฟันซี่อื่นดันขึ้นหรือเบียดลงมายังบริเวณช่องว่าง ส่งผลกระทบต่อการกัด รวมทั้งอาจทำให้เกิดแรงกดที่ฟันและกรามมากขึ้นจนมีอาการเจ็บปวด นอกจากนี้ การมีช่องว่างระหว่างฟันอาจส่งผลให้กระดูกขากรรไกรที่มีหน้าที่รองรับช่องปากและโหนกแก้มมีรูปร่างผิดปกติจนทำให้รูปหน้าเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน

ข้อดีและข้อเสียของสะพานฟัน

การทำสะพานฟันเป็นวิธีแก้ไขปัญหาการสูญเสียฟันที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกับการทำฟันปลอมชนิดอื่น ๆ ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำและให้ข้อมูล เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการใส่สะพานฟัน ข้อดีและข้อเสียของสะพานฟัน มีดังนี้

ข้อดี

  • ช่วยให้ฟันกลับมาดูเป็นปกติและมั่นใจยิ่งขึ้น
  • ช่วยให้เคี้ยวอาหารและพูดคุยได้อย่างปกติ
  • ป้องกันการเคลื่อนที่ของฟันในบริเวณข้างเคียง
  • คงรูปหน้าไม่ให้เปลี่ยนไปเนื่องจากผลกระทบของการสูญเสียฟัน
  • กระจายน้ำหนักในการกัดของฟัน ทำให้แรงกดของฟันแต่ละซี่เท่ากัน

ข้อเสีย

  • เนื่องจากสะพานฟันเป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น จึงมีราคาแพงกว่าฟันปลอมทั่วไปที่สามารถถอดออกได้
  • การติดสะพานฟันอาจส่งผลกระทบต่อฟันซี่ที่อยู่ข้าง ๆ ได้
  • อาจต้องเอาใจใส่ในการทำความสะอาดช่องปากและฟันมากขึ้น

ขั้นตอนการใส่สะพานฟัน

เมื่อคนไข้ตัดสินใจเข้ารับการใส่สะพานฟันแล้ว แพทย์จะกรอเคลือบฟันและเนื้อฟันของฟันซี่ข้าง ๆ ออกบางส่วนเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับครอบสะพานฟันลงไป หลังจากนั้นจึงใส่สะพานฟันชั่วคราวเพื่อช่วยป้องกันฟันที่ถูกกรอเนื้อฟันออกและให้ผู้ป่วยเกิดความคุ้นเคยในระหว่างรอสะพานฟันจริง

เมื่อสะพานฟันชิ้นจริงถูกปรับแต่งจนพอดีกับช่องปากแล้ว ทันตแพทย์จะนำสะพานฟันชั่วคราวออกและแทนที่ด้วยสะพานฟันจริง โดยจะยึดติดไว้กับฟันจริงชั่วคราวประมาณ 2 สัปดาห์ จนกว่าจะแน่ใจว่าพอดีกับช่องปาก ก่อนจะใช้วัสดุทางทันตกรรมประสานสะพานฟันเข้ากับฟันจริงอย่างถาวร ทั้งนี้ เพื่อผลดีต่อสุขภาพช่องปาก คนไข้ควรเข้ารับการตรวจตามการนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

สะพานฟันมีอายุการใช้งานเท่าไร ?

โดยทั่วไปแล้ว สะพานฟันมีอายุการใช้งานประมาณ 5-7 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา หากหมั่นทำความสะอาดช่องปากอย่างดีและไปพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจทำให้สะพานฟันมีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 10 ปี

สะพานฟันดูแลอย่างไร ?

การดูแลสะพานฟันควรทำควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพช่องปาก เพราะปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้สะพานฟันเกิดความเสียหายได้ ซึ่งวิธีดูแลสุขภาพช่องปากทำได้ดังนี้

  • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันหรืออุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดซอกฟันเป็นประจำ เพื่อป้องกันการตกค้างของเศษอาหารที่อาจทำให้เกิดฟันผุ
  • พบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพฟัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและลดอาหารน้ำตาลสูงเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ