แม้การสักบนเรือนร่างได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น แต่ก็นับว่าเสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกายมากเช่นเดียวกัน เพราะอาจเกิดอาการแพ้ การติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพร้ายแรงต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการสักควรศึกษาข้อมูล ความปลอดภัยและอันตรายต่าง ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจสัก เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
การสักปลอดภัยหรือไม่ ?
ในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังไม่ได้กำหนดให้หมึกสำหรับสักลายเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอางปี 2558 โดยมีมติเห็นว่า หมึกสีที่ใช้ในการสักไม่เป็นวัตถุที่ส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นได้ออกข้อกำหนดให้สถานประกอบการการสักเป็นกิจการที่ต้องควบคุมในท้องถิ่น เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ
แม้กรมอนามัยได้ออกหนังสือเรื่องคู่มือการปฏิบัติงานควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบและปฏิบัติงาน แต่การสักลายก็อาจเสี่ยงต่อสุขภาพได้ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานของรัฐรับรองความปลอดภัยของเครื่องมือและสีที่ใช้ในการสักอย่างเป็นทางการ
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจสักควรตระหนักถึงความปลอดภัยและผลที่อาจเกิดขึ้นตามมา เพราะรอยสักจะอยู่บนผิวหนังไปตลอดชีวิต ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพบางอย่าง เช่น งานราชการ หรืองานบริการที่ต้องใช้ภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีวิธีลบรอยสักด้วยเลเซอร์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผิวหนังกลับมาเนียนใสเหมือนเดิมได้ และอาจต้องมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากตัดสินใจสัก ควรเลือกใช้บริการจากร้านสักที่น่าเชื่อถือและสะอาดถูกสุขอนามัย มีช่างสักที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และช่างต้องใส่ถุงมือคู่ใหม่ทุกครั้งที่สักให้ลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ อุปกรณ์สำหรับสักลาย เช่น เข็มสัก หมึกสี ถาดรอง รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ บางอย่างต้องผ่านการฆ่าเชื้อและไม่ใช้ซ้ำกับลูกค้ารายอื่น ส่วนโต๊ะ เตียง และอ่างล้างมือ ควรได้รับการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนใช้เสมอ
อันตรายจากการสัก
การสักอาจช่วยเพิ่มเสน่ห์และความพึงพอใจให้แก่เจ้าของรอยสัก แต่ก็มีความเสี่ยงทำให้ผู้ที่สักเผชิญปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้เช่นกัน โดยอันตรายที่อาจเกิดจากการสัก ได้แก่
- การแพ้ การสักหมึกสี โดยเฉพาะหมึกสีแดง เขียว เหลือง และน้ำเงิน อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและแพ้ได้ โดยอาจมีผื่นคันบริเวณรอบรอยสัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังการสักไม่นาน หรืออาจเกิดหลังจากสักมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว
- การติดเชื้อแบคทีเรีย หากรับการสักจากอุปกรณ์เครื่องสักและเข็มสักที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ หรือเข้ารับบริการในร้านสักลายที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อหลังการสักได้ โดยอาจทำให้ป่วยด้วยวัณโรค หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียสตาฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าวจะมีตุ่มฝีหนองขึ้นตามผิวหนัง
- การติดเชื้อไวรัส การเข้ารับบริการจากร้านสักลายที่ใช้เครื่องมือสักและเข็มที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสผ่านทางเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย เช่น การติดเชื้อเอชไอวี บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นต้น
- การเกิดคีลอยด์ การสักลายอาจทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ซึ่งเป็นแผลเป็นนูนที่อาจขยายขนาดและสร้างความเจ็บปวด คัน หรือระคายเคืองได้ โดยคีลอยด์อาจเกิดจากกระบวนการสร้างแผลเป็นเพื่อซ่อมแซมแผลและป้องกันแผลจากการบาดเจ็บหลังการสัก
- การอักเสบแบบแกรนูโลมา หลังรับการสัก ผิวหนังอาจเกิดการอักเสบแบบแกรนูโลมา (Granulomas) โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ รอบรอยสัก ซึ่งอาจเกิดจากการระคายเคืองของผิว หรือปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารเคมีและหมึกสีที่ใช้ในการสัก ซึ่งอาจปรากฏอาการในหลายเดือนหรือหลายปีภายหลังจากการสัก
- อาการแทรกซ้อนจากการตรวจ MRI การสักอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีรอยสักบวมและเจ็บแสบขณะเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอได้ นอกจากนี้ รอยสักขนาดใหญ่อาจรบกวนการถ่ายภาพอวัยวะต่าง ๆ ด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอจนทำให้ภาพถ่ายมีความคมชัดต่ำได้ด้วยเช่นกัน
ดูแลรอยสักอย่างไรให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ?
หลังสักเสร็จแล้ว เพื่อความคงทนของรอยสัก และป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่การเจ็บป่วยต่าง ๆ ควรดูแลรอยสักด้วยวิธีต่อไปนี้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าช่างสักได้ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ทาลงบริเวณรอยสักและปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลเรียบร้อยแล้ว
- ลอกพลาสเตอร์ออกหลังจากปิดแผลนาน 24 ชั่วโมง จากนั้นล้างแผลด้วยสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียและน้ำสะอาด แล้วจึงซับแผลให้แห้ง
- ทาขี้ผึ้งที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบริเวณรอยสักวันละ 2 ครั้ง โดยไม่ต้องปิดพลาสเตอร์
- ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอ แล้วทาขี้ผึ้งเพื่อรักษาความชุ่มชื้น โดยทำต่อเนื่องนาน 2-4 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่อาจเสียดสีกับบริเวณที่สัก
- หลีกเลี่ยงการออกแดด การอาบน้ำอุ่น และการว่ายน้ำเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้หมึกสีบริเวณรอยสักจางลง ผิวหนังเกิดการระคายเคือง และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ
- ไม่ควรแกะ เกา หรือลอกสะเก็ดแผลบริเวณรอยสัก เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และหากมีสัญญาณของการติดเชื้อเกิดขึ้น เช่น ผิวหนังหยาบ มีผื่นคัน และปรากฏรอยแดงรอบรอยสัก ควรไปพบแพทย์ทันที