ท้อง 2 เดือนเป็นช่วงที่คุณแม่อาจเพิ่งทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์จากอาการแพ้ท้องอย่างคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และคัดเต้านม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกการตั้งครรภ์ ยิ่งเป็นคุณแม่มือใหม่คงจะตื่นเต้น ดีใจอยู่ไม่น้อย และอาจรู้สึกกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อทราบว่ากำลังจะมีเจ้าตัวเล็ก
ท้อง 2 เดือนจะเป็นช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 5–8 สัปดาห์ ทั้งคุณแม่และทารกเองจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมากขึ้น หากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกอาจยิ่งทำให้คุณแม่กังวลว่าอาการคนท้องแบบใดที่ผิดปกติ และควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้เจ้าตัวน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ อาการของคุณแม่ท้อง 2 เดือน และวิธีดูแลตัวเองมาฝากกัน
คุณแม่ท้อง 2 เดือน อาการเป็นอย่างไร
ในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก ท้องของคุณแม่จะไม่ใหญ่มาก แต่ขนาดของท้องจะเริ่มขยายจนสังเกตเห็นได้เมื่อมีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ทำให้หลายคนมักไม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์จนกระทั่งมีอาการที่บ่งบอกการตั้งครรภ์ โดยสัญญาณของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่อาจพบได้ในช่วงท้อง 2 เดือน มีดังนี้
- แพ้ท้อง คุณแม่มักจะคลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกเหม็นกลิ่นอาหารหรือกลิ่นอื่น ๆ รอบตัว ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
- เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย
- เต้านมขยาย รู้สึกคัดตึงเต้านม
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- อยากอาหารมากขึ้น
- มีน้ำลายมากผิดปกติ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- ท้องผูก
- ปวดเกร็งท้อง
- มีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด
พัฒนาการทารกในครรภ์ของคุณแม่ท้อง 2 เดือน
ในช่วงที่คุณแม่ท้อง 2 เดือน ร่างกายของทารกจะมีลักษณะเป็นตัวอ่อน ความยาวของลำตัวจะประมาณ 2.5 เซนติเมตร และน้ำหนักตัวหนักเพียง 9–10 กรัม อวัยวะบนใบหน้า แขนขา นิ้วมือ และนิ้วเท้าค่อย ๆ เริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ร่างกายเริ่มสร้างกระดูกขึ้นมาทดแทนกระดูกอ่อน ทารกอาจเริ่มขยับตัวได้ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกถึงการขยับตัว
อวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น สมอง ไขสันหลัง และเนื้อเยื่อในระบบประสาทส่วนกลางพัฒนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารก็เริ่มพัฒนาขึ้นเช่นกัน ในระยะนี้ อัตราการเต้นของหัวใจของทารกจะอยู่ที่ 100–140 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะตรวจพบได้ด้วยการอัลตราซาวด์หลังการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 8 เป็นต้นไป
หากคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดอาจตรวจพบได้ด้วยการอัลตราซาวด์ แต่การอัลตราซาวด์ก่อนอายุครรภ์ 8 สัปดาห์อาจจะยังมองไม่เห็นว่าตั้งครรภ์แฝด เนื่องจากทารกมีขนาดเล็กมากและอาจซ่อนอยู่ข้างหลังอีกทารกอีกคนได้
คำแนะนำในการดูแลสุขภาพครรภ์สำหรับคุณแม่ท้อง 2 เดือน
การดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรงตลอดทั้ง 9 เดือนเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่เดือนแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจและประเมินความเสี่ยงหากเกิดความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ และให้คำแนะนำแก่คุณแม่ในการดูแลสุขภาพครรภ์ได้อย่างเหมาะสม
คุณแม่ท้อง 2 เดือนมักมีอาการแพ้ท้อง ทำให้รับประทานได้น้อยหรือรับประทานไม่ได้เลย การจิบน้ำขิงอุ่น ๆ หรือดื่มน้ำผลไม้คั้นสดจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และแบ่งรับประทานทีละน้อย รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและมีกลิ่นแรง ซึ่งอาจทำให้คลื่นไส้มากขึ้น
ร่างกายของผู้ที่ตั้งครรภ์จะต้องการพลังงานรวม 2,000–2,300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมจืด ผักผลไม้ ข้าว และธัญพืชไม่ขัดสี ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น อาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
คุณแม่สามารถออกกำลังกายในช่วงท้อง 2 เดือนได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายเพื่อความปลอดภัย โดยอาจเริ่มจากออกกำลังวันละ 10 นาทีและค่อย ๆ เพิ่มเวลามากขึ้นหากไม่รู้สึกคลื่นไส้หรือเวียนศีรษะ และเลือกออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน และโยคะประมาณสัปดาห์ละ 150 นาที หากรู้สึกเหนื่อยหรือชีพจรเต้นเร็วมาก ควรหยุดพักและจิบน้ำเป็นระยะเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
สัญญาณอันตรายของแม่ท้อง 2 เดือนที่ควรไปพบแพทย์
คุณแม่ควรสังเกตอาการของตัวเอง และควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการผิดปกติต่อไปนี้
- ปวดท้องและปวดหลังอย่างรุนแรง
- แพ้ท้องอย่างรุนแรง (Hyperemesis Gravidarum) ส่งผลให้คลื่นไส้และอาเจียนอย่างหนัก และบ่อยกว่า 3–4 ครั้งต่อวัน ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีอาการขาดน้ำและน้ำหนักตัวลดลง หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกได้
- ปวดศีรษะรุนแรง และมีไข้
- อาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะแสบขัด รู้สึกปวดปัสสาวะแต่ไม่มีปัสสาวะออกมา ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น มีสีน้ำตาลเข้ม และมีเลือดปน
- มีเลือดออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ
ท้อง 2 เดือนอาจเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่บางคนเพิ่งทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ และเริ่มมีอาการของคนท้องทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ต้องรับมือ โดยเฉพาะอาการแพ้ท้อง หากคุณแม่ไปตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดอายุครรภ์ 9 เดือน