การมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ทั้งสุนัข แมว แฮมสเตอร์ หรือสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ อาจเป็นวิธีที่พ่อแม่ฝึกให้บุตรหลานมีความอ่อนโยน รับผิดชอบ และรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่สัตว์เหล่านั้นก็อาจนำพาเชื้อโรคบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคอันตรายมาสู่คนในบ้านได้ ซึ่งการรักษาความสะอาดภายในบ้านและสถานที่ใช้เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงแสนรักก็เป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดโรคได้
สัตว์เลี้ยงแพร่เชื้อโรคได้อย่างไร ?
เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต และเชื้อราบางชนิด สามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้ผ่านการข่วน กัด สัมผัสกับน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง เชื้อเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกับเจ้าของและคนในบ้าน โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจมีโอกาสติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงได้มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง
โรคติดต่อจากสุนัขและแมว
- โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนหรือสัตว์อื่น ๆ ได้ด้วยการกัด และหากแผลตามร่างกาย เยื่อบุตา หรือปาก สัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อนั้น ๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน
- โรคกลาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราและพบมากในลูกแมว โรคกลากจะทำให้สัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อมีขนร่วงเป็นกระจุก หากแพร่กระจายมาสู่มนุษย์จะทำให้มีตุ่มแดง คัน และมีผิวหนังเป็นขุยสีขาวบริเวณรอบ ๆ ซึ่งอาจเกิดบริเวณหนังศีรษะ เท้า ขาหนีบ หรือผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย
- โรคติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter Jejuni ที่พบได้ทั้งในสุนัข แมว แฮมสเตอร์ นก และปศุสัตว์บางชนิด ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่สัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียที่อาจอยู่ในน้ำ อุจจาระ เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก หรือนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง หรือมีไข้
- โรคแมวข่วน เกิดจากการถูกแมวที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Bartonella Henselae กัดหรือข่วน ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นเองได้แม้ไม่ได้รับการรักษา
- โรคพยาธิตัวกลม เป็นการติดเชื้อพยาธิที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของสุนัขและแมว หากเด็ก ๆ เล่นดินที่มีไข่พยาธิปนอยู่แล้วไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร จะทำให้ไข่ฟักตัวในลำไส้ จากนั้นตัวอ่อนจะกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ จนส่งผลให้เกิดอาการ เช่น ไอ มีไข้ หายใจมีเสียงหวีด เกิดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย ตับโต หรือต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
- โรคทอกโซพลาสโมซิส เกิดจากการสัมผัสอุจจาระของแมว ส่งผลให้มีอาการอ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ เจ็บคอ และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย แม้จะไม่ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดีเกิดอาการใด ๆ หลังติดเชื้อ แต่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์แท้งลูกหรือคลอดก่อนกำหนด ทั้งยังอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการป่วยอย่างรุนแรงและตาบอดได้
- โรคไลม์ แม้สัตว์เลี้ยงจะไม่สามารถแพร่โรคนี้มาสู่เจ้าของได้โดยตรง แต่เห็บจากสัตว์เลี้ยงชนิด Backlegged หรือ Deer Tick ที่พบในแถบทวีปเอเชีย สามารถติดเชื้อแบคทีเรีย Borrelia Garinii แล้วแพร่มาสู่คนได้ โดยหลังจากโดนเห็บกัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีผื่นแดงลักษณะคล้ายเป้ายิงปืนเป็นวงสีแดงซ้อนกัน 2 วงบริเวณที่โดนกัด หากเชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ข้ออักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการมือเท้าชา หรือมีอาการทางสมอง
โรคติดต่อจากนก
การเลี้ยงนกชนิดต่าง ๆ อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น
- โรคคริปโตคอกโคสิส ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ติดต่อผ่านการหายใจนำอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่พบในมูลของนกเข้าไปในร่างกาย โดยเฉพาะนกพิราบ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงอย่างเยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- โรคซิทตาโคสิส หรือโรคนกแก้ว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากการสัมผัสกับมูลหรือสะเก็ดผิวหนังของนก รวมถึงฝุ่นละอองที่ก่อตัวขึ้นในกรงนก ซึ่งทำให้มีอาการไอ มีไข้สูง และปวดศีรษะ
โรคติดต่อจากหนูและแฮมสเตอร์
อาจเกิดการติดเชื้อไวรัส Lymphocytic Choriomeningitis ผ่านทางการหายใจนำอากาศที่มีอนุภาคจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของหนูที่ติดเชื้อเข้าไปในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการคล้ายเป็นหวัด อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจส่งผลให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสได้ ส่วนผู้หญิงที่ติดเชื้อนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อไปด้วยได้เช่นกัน
โรคติดต่อจากสัตว์เลื้อยคลาน
จิ้งจก งู เต่า กบ คางคก ซาลามานเดอร์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหรือสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ อาจทำให้เกิดโรคซาลโมแนลโลสิส ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella ในอุจจาระของสัตว์เลื้อยคลายและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยติดต่อจากการสัมผัสผิวหนัง กรง หรือบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ อีกทั้งยังอาจทำให้เด็กเล็กที่สัมผัสกับเชื้อมีอาการป่วยที่รุนแรง เกิดภาวะขาดน้ำ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
นำสัตว์เลี้ยงมานอนบนเตียงได้หรือไม่ ?
หากคุณเคยให้สัตว์เลี้ยงนอนร่วมกับคนแล้วไม่รบกวนการนอนหรือไม่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยแต่อย่างใด ก็สามารถให้นอนร่วมกันได้ตามปกติ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยง เป็นโรคหอบหืด หรือมีปัญหาในการนอนหลับ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมานอนด้วยบนเตียงหรือแม้แต่ภายในห้องนอน
เทคนิคดูแลสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยต่อคนในบ้าน
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส เล่น หรือให้อาหารสัตว์ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่คลานบนพื้นหรืออาจนำมือเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการจูบ การนำปากเข้าไปใกล้ ๆ สัตว์เลี้ยง หรือการรับประทานอาหารจานเดียวกันกับสัตว์เลี้ยง เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่มักแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย
- ไม่ให้สัตว์เลี้ยงขึ้นบนโต๊ะอาหารหรือเข้าไปในบริเวณที่เตรียมอาหาร รวมถึงไม่ควรอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงในอ่างล้างจานหรืออ่างอาบน้ำของตนเอง
- อาบน้ำทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ และพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อรับวัคซีนที่จำเป็น รวมถึงระมัดระวังเกี่ยวกับปัญหาเห็บหมัดที่อาจเป็นพานะนำโรคจากสัตว์มาสู่คนได้
- ทำความสะอาดกรง รวมถึงบริเวณรอบ ๆ ที่อยู่ของสัตว์ และกำจัดมูลของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งไม่ควรให้เด็ก ๆ เข้าไปเล่นในบริเวณที่เป็นที่ขับถ่ายของสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- ขณะทำความสะอาดกรงหรือที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือปิดปากและจมูกทุกครั้ง รวมทั้งขณะที่ทำความสะอาดกระบะทรายของแมว เพื่อป้องกันการหายใจเอาละอองหรือเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ไม่ควรรับเลี้ยงสัตว์ป่าหรือสัตว์ที่ป่วย
- ควรพาสัตว์ที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ไปตรวจรักษาโรคก่อนนำมาเลี้ยงร่วมกับสัตว์ตัวอื่น ๆ และควรแยกสัตว์ป่วยออก เมื่อรักษาจนหายดีแล้วจึงนำมาเลี้ยงร่วมกันตามปกติ
นอกจากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ การถูกแมวหรือสุนัขกัด โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าหรือมือ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและปัญหารุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้ หากโดนแมวข่วนอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าสุนัขข่วน เพราะเล็บแมวมีความแหลมคมจนฝังเข้าไปได้ลึกกว่าเล็บของสุนัข และสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ดูเล่นชนิดอื่น ๆ ก็อาจมีพิษหรือดุร้าย อาจเสี่ยงเกิดอันตรายต่อเด็กและคนในบ้านได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องการเลี้ยงสัตว์ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในบ้าน รวมทั้งจัดการดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่อย่างถูกสุขลักษณะด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด