สารตะกั่ว (Lead) เป็นสารพิษโลหะหนักประเภทหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และพบได้ในชีวิตประจำวัน โดยมักใช้ในวงการอุตสาหกรรมและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภท ในอีกแง่หนึ่ง สารตะกั่วก็มีความเป็นพิษสูงและเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา และทำให้สมองได้รับความเสียหาย
ทุกวันนี้เราได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเล็กน้อยจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ การสัมผัสดิน อากาศ มลภาวะ และการใช้ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ถึงแม้ว่าจะได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน การทราบข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับสารตะกั่วจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
สารตะกั่วมาจากไหน
สารตะกั่วมีคุณสมบัติหลอมเหลวได้ง่าย และนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่สีทาบ้าน สีทาของเล่น แม่พิมพ์โลหะสำหรับพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ ท่อน้ำประปา เครื่องยนต์หรือชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ตะกั่วเป็นส่วนประกอบ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ภาชนะบรรจุอาหารที่มีตะกั่ว และบางส่วนอาจมีการปนเปื้อนในดิน น้ำ หรืออากาศ
สารตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายรูปแบบ ทั้งการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว การหายใจสูดเอาผงฝุ่นหรืออากาศที่มีสารตะกั่วปะปนเข้าสู่ร่างกายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการสัมผัสหรือการดูดซึมสารตะกั่วผ่านผิวหนัง
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหรืออาคารเก่าอาจสูดเอาฝุ่นละอองที่มีตะกั่วปนเปื้อนในอากาศ หรือเด็กเล็กอาจได้รับสารตะกั่วจากการหยิบสีที่ลอกจากผนังบ้าน สิ่งของที่ปนเปื้อนสีหรือฝุ่นในบ้านที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วเข้าปากโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปอาจมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษจากสารตะกั่วน้อยกว่าคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างคนงานในเหมือง ช่างประปา ช่างทาสี ช่างเชื่อมโลหะหรือซ่อมแซมรถยนต์ รวมถึงคนใกล้ชิดของกลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจได้สารตะกั่วไปด้วย อย่างทารกที่แม่ทำงานอยู่ในสายงานดังกล่าว
สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างไร
เมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะไปจับกับเซลล์เม็ดเลือดแดงและกระจายไปสะสมยังกระดูกหรืออวัยวะ อย่างตับ ไต ไขกระดูกและสมอง และอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอีกด้วย การได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อยจึงสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน โดยผู้ที่ได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายอาจมีอาการต่อไปนี้
เด็ก
เด็กที่มีสารตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมากจะมีความบกพร่องสติปัญญา การเรียนรู้ มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เจริญเติบโตช้า และอาจเจ็บป่วยด้วยอาการต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ตัวซีด ในปากมีรสเหล็ก กล้ามเนื้อหรือข้อต่ออ่อนแรง ไม่สามารถจดจ่อได้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องผูก ชัก หรือมีปัญหาด้านการได้ยิน เป็นต้น
ผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายสะสมเป็นจำนวนมาก อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับอาการของเด็กร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดท้อง รู้สึกเจ็บตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านความจำ อารมณ์แปรปรวน อสุจิน้อยผิดปกติ หรือมีภาวะมีบุตรยาก
นอกจากนี้ สารตะกั่วยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยอาจทำให้แท้ง คลอดก่อนกำหนด เกิดภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรืออาจส่งผลต่อไต สมอง และพัฒนาการทางระบบประสาทของทารกในครรภ์
สารตะกั่วกับวิธีหลีกเลี่ยงที่ควรรู้
การหลีกเลี่ยงการสัมผัสและได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ
- หลีกเลี่ยงการเก็บอาหารไว้ในภาชนะเซรามิค ดีบุกผสมหรือเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ
- ทำความสะอาดบ้าน สิ่งของและพื้นด้วยน้ำอุ่นผสมกับน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นและสิ่งสกปรกที่อาจปนเปื้อนสารตะกั่ว
- ระมัดระวังไม่ให้เด็กอมนิ้ว หยิบของเล่น สิ่งของ หรือสิ่งสกปรกเข้าปาก
- ล้างมือให้เด็กอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหารและก่อนนอน
- ทำความสะอาดของเล่น จุกนม หรือข้างของเครื่องใช้ของเด็กอยู่เสมอ
- หากต้องการทาสีผนังบ้านใหม่และกำจัดสีเดิมออก ควรปรึกษาหรือจ้างผู้ที่เชี่ยวชาญในการกำจัดอย่างเหมาะสม เพราะการกำจัดสีทาบ้านเดิมออกด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ฝุ่นจากสีทาบ้านที่มีสารตะกั่วฟุ้งกระจายในอากาศได้
- ตรวจสอบคุณภาพท่อน้ำประปาอยู่เสมอ หากไม่ได้เปิดก็อกน้ำนานกว่า 2 ชั่วโมง ควรเปิดน้ำทิ้งไว้สัก 15–30 วินาทีแล้วค่อยใช้น้ำ
- ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่วสูงควรใส่หน้ากากอนามัย สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายได้อย่างมิดชิด ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนชุดก่อนกลับเข้าบ้าน และแยกทำความสะอาดชุดออกจากสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ
ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับการสะสมของสารตะกั่วในร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวเสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารตะกั่วสูง กรณีที่สงสัยว่าสัมผัสกับสารตะกั่วหรือต้องทำงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่วปริมาณมาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหากตรวจพบปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูง