สารปนเปื้อนในอาหาร ความเสี่ยงและวิธีหลีกเลี่ยงอันตราย

สารปนเปื้อนในอาหารเป็นสิ่งที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญหานี้อาจก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษและยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรรับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของตนเอง

Food Contamination

ประเภทของสารปนเปื้อนในอาหาร

  • การปนเปื้อนทางกายภาพ เป็นการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจปะปนอยู่ในอาหาร เช่น เส้นผม เล็บ เศษแก้ว โลหะ หรือสิ่งสกปรก เป็นต้น โดยอาจเกิดการปนเปื้อนได้ในระหว่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การผลิต การจัดจำหน่าย การขนส่ง ไปจนถึงการเตรียมและการปรุงอาหาร
  • การปนเปื้อนทางชีวภาพ เป็นการปนเปื้อนจากเชื้อโรคอันตรายในอาหารอย่างเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อปรสิต เช่น สตาฟิโลค็อคคัส (Staphylococcus) ซาลโมเนลลา (Salmonella) คลอสไทรเดียม (Clostridium) แคมปีโลแบคเตอร์ (Campylobacter) และพยาธิชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
  • การปนเปื้อนทางเคมี เป็นการปนเปื้อนจากสารอันตรายที่นำมาใช้เพื่อคงความสดและทำให้อาหารมีสีสันน่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยมีสารเคมีที่พบว่าเกิดการปนเปื้อนบ่อย เช่น สารบอแรกซ์ สารฟอร์มาลิน สารกันเชื้อรา และสารฟอกขาว เป็นต้น

สารปนเปื้อนในอาหารเกิดจากอะไร ?

การปนเปื้อนในอาหารอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในโรงงานที่ผลิตและขายสินค้า รถขนส่งสินค้า ร้านขายสินค้า โรงอาหาร หรือแม้กระทั่งภายในบ้านของคุณเอง

โดยอาหารอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีได้จากหลายสาเหตุ เช่น

การรักษาสุขอนามัยไม่ดี
การตั้งแคมป์ที่มีการปรุงอาหารรับประทานกันเองโดยไม่ได้ล้างวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดก่อน หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกก็อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารได้ นอกจากนี้ หากใช้มือสัมผัสกับอาหารโดยตรงขณะรับประทานอาหารและไม่ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้เช่นกัน

การวางอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดให้มิดชิด
หากวางอาหารทิ้งไว้โดยไม่ระวัง อาจทำให้สัตว์เลี้ยง หนู แมลงวัน แมลงสาบ หรือแมลงชนิดอื่น ๆ นำเชื้อโรคมาสู่อาหารได้

การสัมผัสร่างกายขณะทำอาหาร
หากไม่ล้างมือให้สะอาด พฤติกรรมบางอย่างอาจทำให้นิ้วปนเปื้อนแบคทีเรียและแพร่ไปสู่อาหารได้ เช่น เลียนิ้วมือ แกะสิว สัมผัสตุ่ม เสยผม เกาหู ถูหรือจับจมูก เป็นต้น โดยพฤติกรรมดังกล่าว รวมถึงการไอหรือจามขณะเตรียมอาหารก็อาจทำให้ละอองที่มีแบคทีเรียตกลงไปในอาหารได้ด้วย  

การจัดเก็บอาหารได้ไม่ดี
โดยปกติอาหารสดต่าง ๆ ต้องถูกแช่เย็นหรือเก็บในที่ที่มีความชื้นสูง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนได้ เช่น เนื้อไก่ เนื้อเป็ด และสัตว์ปีกอื่น ๆ ปลา หอย ผลิตภัณฑ์จากนมอย่างชีสหรือครีม นมวัวหรือนมแพะที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ ไข่หรือผลิตภัณฑ์จากไข่ เป็นต้น นอกจากนี้ การวางอาหารไว้ในบริเวณที่มีอากาศร้อนก็มักทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็วและทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่ายกว่าปกติด้วย   

การปนเปื้อนข้าม
เป็นการแพร่เชื้อแบคทีเรียจากอาหารที่มีการปนเปื้อนไปยังอาหารที่ไม่มีการปนเปื้อน โดยอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการจัดเก็บและการปรุงอาหาร หากผู้บริโภคเก็บวัตถุดิบที่ปนเปื้อนได้ง่ายอย่างเนื้อไก่ดิบไว้รวมกับอาหารปรุงสุก หรือเตรียมอาหารโดยใช้มีดหรือเขียงอันเดียวกัน เชื้อแบคทีเรียจากเนื้อไก่ดิบก็อาจแพร่ไปสู่อาหารปรุงสุกได้   

วิธีป้องกันสารปนเปื้อนในอาหาร

ผู้บริโภคอาจลดความเสี่ยงที่จะเผชิญกับสารปนเปื้อนในอาหารได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • เลือกซื้ออาหารให้ดี โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ควรเลือกซื้อจากร้านค้าหรือสถานที่ที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้
  • เก็บรักษาอาหารดิบอย่างเนื้อสัตว์ เนื้อไก่ ปลา และหอย ให้ห่างจากอาหารที่พร้อมรับประทาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม
  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทั้งก่อนและหลังการเตรียมวัตถุดิบ การปรุงอาหาร และการใช้ห้องน้ำ รวมถึงควรทำความสะอาดเครื่องครัวอย่างเขียงและอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยน้ำร้อนผสมน้ำยาล้างจาน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่
  • ละลายอาหารในช่องแช่เย็น แม้จะละลายได้ช้าแต่ก็เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และไม่วางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง หากใช้ไมโครเวฟละลายอาหาร เมื่อละลายดีแล้วก็ควรนำออกมาประกอบอาหารทันที  
  • ปรุงอาหารด้วยความร้อนที่เหมาะสม โดยอาจใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิในอาหาร เช่น เนื้อวัวควรปรุงด้วยความร้อนจนมีอุณหภูมิภายในที่ 71 องศาเซลเซียส เนื้อแกะ เนื้อหมู และเนื้อวัวที่มีลักษณะเป็นชิ้นหรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ควรปรุงด้วยความร้อนจนมีอุณหภูมิภายในที่ 63 องศาเซลเซียส เนื้อไก่และเนื้อไก่งวงควรปรุงด้วยความร้อนจนมีอุณหภูมิภายในที่ 74 องศาเซลเซียส ปลาและหอยควรปรุงด้วยความร้อนจนสุกอย่างทั่วถึง เป็นต้น
  • การวางอาหารทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน ๆ อาจทำให้มีแบคทีเรียและสารพิษที่ไม่อาจทำลายได้ด้วยการปรุงอาหารเกิดขึ้น ดังนั้น หากสงสัยว่าอาหารอาจถูกจัดเตรียม เสิร์ฟ และเก็บรักษาด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย ให้ทิ้งอาหารนั้นทันที
  • ไม่ชิมอาหารที่น่าสงสัย แม้อาหารจะยังดูน่ารับประทานแต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แช่เย็นหรือแช่แข็งอาหารที่อาจเน่าเสียได้ง่ายภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากเลือกซื้อหรือเตรียมอาหาร และแช่อาหารที่เน่าเสียง่ายไว้ในตู้เย็นภายใน 1 ชั่วโมง หากมีอุณหภูมิห้องสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นเสมอ และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม แก้วน้ำ หลอดดูด เป็นต้น
  • หากต้องออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรเลือกร้านอาหารที่สะอาดและปลอดภัย รวมถึงผู้ประกอบอาหารมีสุขอนามัยที่ดี  
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่สุกเพียงเล็กน้อยอย่างเนื้อสัตว์และเนื้อไก่ รวมถึงเนื้อบดแช่เย็นและอาหารแปรรูปที่ทำจากเนื้อสัตว์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือยังปรุงไม่สุก เช่น ปลาดิบ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยเชลล์ และหอยแครง ไข่หรืออาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบอย่างคุกกี้ แป้งที่ใช้ทำขนม ไอศกรีมโฮมเมด เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานต้นอ่อนของพืชที่ยังดิบอยู่ เช่น ถั่วงอก ต้นอ่อนหัวไชเท้า ต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ ไซเดอร์ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ โดยเฉพาะชีสชนิดนิ่มอย่างฟีต้าชีส บรีและกาม็องแบร์ชีส บลูชีส และชีสที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์

สัญญาณอาการหลังรับประทานสารปนเปื้อนในอาหาร

สารปนเปื้อนในอาหารไม่เพียงแต่ทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษที่ทำให้มีอาการอย่างอาเจียน ท้องเสีย หรือติดเชื้อพยาธิเพียงเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวอย่างมะเร็งและความผิดปกติทางระบบประสาทได้ด้วย ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติหลังจากรับประทานอาหารที่สงสัยว่าไม่สะอาด โดยเฉพาะหากอาเจียนติดต่อกันบ่อยครั้ง อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือด ท้องเสียติดต่อกันมากกว่า 3 วัน ปวดเกร็งหน้าท้องอย่างรุนแรง มีอุณหภูมิภายในปากสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส รวมถึงมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำอย่างอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรง ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย อ่อนแรงมาก เวียนศีรษะและวิงเวียนคล้ายจะหมดสติ หรือมีอาการทางระบบประสาทอย่างมองเห็นเป็นภาพเบลอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีอาการเสียวหรือปวดคล้ายถูกเข็มแทงตามแขน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเร่งด่วน