การจามเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเป็นกลไกปกติของร่างกายที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในระบบทางเดินหายใจ แต่การจามบ่อย ๆ อาจสร้างความรำคาญและความกังวลให้ใครหลายคน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ ไข้หวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการจามบ่อยกว่าปกติ
เมื่อมีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเข้าไปในโพรงจมูก สารดังกล่าวจะกระตุ้นให้เซลล์ประสาทในโพรงจมูกส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วนล่างที่ควบคุมการหายใจ ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังกล้ามเนื้อหน้าอกและกระบังลมให้เกิดการหดตัว จึงกระตุ้นให้เกิดการจามขึ้น
แม้ว่าอาการจามมักไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง แต่อาการจามบ่อยอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ มาเรียนรู้สาเหตุและวิธีรับมือกับอาการจามบ่อยให้ได้ผลกัน
จามบ่อยเกิดจากอะไร
โดยปกติแล้วคนเรามักจามติดต่อกันประมาณ 2–4 ครั้ง เพราะการจามครั้งเดียวอาจไม่สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคออกจากระบบทางเดินหายใจได้หมด โดยจำนวนครั้งที่จามอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการจาม ดังนี้
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่จะค่อนข้างคล้ายกัน คือ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ และจามบ่อย แต่อาการไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างจะรุนแรงกว่า โดยมักจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย อย่างการติดเชื้อในหู การติดเชื้อที่ไซนัส และปอดบวมได้มากกว่าไข้หวัดธรรมดา
ผู้ป่วยไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ควรดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ และใช้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้คัดจมูก และยาแก้ไอ ซึ่งอาจช่วยให้อาการป่วยหายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ อาการไข้หวัดมักดีขึ้นเองภายใน 7–10 วัน และอาการไข้หวัดใหญ่มักอาการดีขึ้นภายใน 1–2 สัปดาห์ อาการจามบ่อยจึงมักหายไปได้เองเมื่อรับการรักษาหรือหายป่วยจากหวัดและไข้หวัดใหญ่
โรคภูมิแพ้อากาศ
โรคภูมิแพ้อากาศเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น รังแคจากสัตว์เลี้ยง และเชื้อรา โดยร่างกายจะปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศออกจากร่างกาย ทำให้เกิดอาการจาม คัดจมูก เคืองตา และน้ำมูกไหลตามมา
หากสงสัยว่าอาการจามบ่อยเกิดจากโรคภูมิแพ้ ควรไปพบแพทย์ โดยผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการสะกิดผิวหนังเพื่อทดสอบอาการภูมิแพ้ (Skin Prick Test) นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและกำจัดสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ทำสะอาดบ้านเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง เมื่อมีอาการควรรับประทานยาแก้แพ้อากาศหรือยาต้านฮิสตามีน
การสูดดมสารเคมีหรือมลพิษทางอากาศ
สารเคมีและมลพิษทางอากาศเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้จามบ่อย เนื่องจากเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ โดยสารเคมีหรือมลพิษทางอากาศที่มักกระตุ้นให้จามบ่อย เช่น
- มลพิษในอากาศ เป็นการปนเปื้อนของอากาศจากก๊าซและอนุภาคของแข็ง ทำให้อากาศตามธรรมชาติเปลียนแปลงไป โดยมีที่มาจากสารต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่อากาศ ทั้งจากธรรมชาติหรือจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ไอเสียจากรถ สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของพลังงานเชื้อเพลิง รวมทั้งสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน อย่างไรฝุ่น เกสรดอกไม้ และรา
- สารเคมีที่มีกลิ่นฉุน อย่างน้ำหอม แม้จะไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้โดยตรง แต่อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคืองและทำให้จามบ่อย
- ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด และสร้างความระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และคนรอบข้าง การสูดดมควันบุหรี่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหายใจมีเสียงและปอดติดเชื้อในเด็กได้
นอกจากนี้ การจามอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศร้อนและเย็นอย่างกะทันหัน และบางคนอาจมีอาการจามบ่อยเมื่อมองแสงจ้า (Photic Sneeze Reflex) ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
วิธีรับมืออาการจามบ่อย
การรับมือกับอาการจามบ่อยให้ได้ผลมีวิธีที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปอาการจามที่เกิดจากโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่จะดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองและรับประทานยาบรรเทาอาการ ส่วนการป้องกันอาการจามจากโรคภูมิแพ้ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี ฝุ่นควัน และสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำจากน้ำมูกและเหงื่อจากไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
- ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ควัน และละอองเกสรดอกไม้ปลิวเข้ามาในบ้าน
- ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยใช้การดูดฝุ่นแทนการกวาดบ้านเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น และเลือกเครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรอง HEPA ซึ่งสามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองได้ดี ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มในน้ำร้อนทุกสัปดาห์
- หากใครที่แพ้ขนจากสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเลี้ยงสุนัข แมว หรือสัตว์ที่มีขนภายในบ้าน
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ลมแรง อากาศแปรปรวน หรือมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง หากต้องออกไปนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และไม่อยู่ในบริเวณเขตสูบบุหรี่ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการสูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง
- ไม่ใช้น้ำหอม ครีมทาผิว สเปรย์แต่งผมที่ผสมน้ำหอมกลิ่นฉุน
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศควรรับประทานยาต้านฮิสตามีนตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้งนี้ เมื่อจามควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกไว้ และทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วลงถังขยะให้เรียบร้อย หากไม่มีกระดาษทิชชู่ ควรจามใส่ข้อพับแขนแทนการใช้มือปิดจมูกและปาก เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้มากกว่า นอกจากนี้ ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากไอและจามด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์อย่างน้อย 60% ขึ้นไป
แม้อาการจามบ่อยจะไม่ได้เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง แต่มักทำให้รู้สึกรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากทราบสาเหตุและดูแลตนเองอย่างเหมาะสมจะช่วยลดอาการจามได้ อย่างไรก็ตาม หากดูแลตนเองแล้วยังมีอาการจามบ่อย หรือมีอาการผิดปกติร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป