คันในร่มผ้าเป็นอาการกวนใจที่สร้างความรำคาญและความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน อาการคันในร่มผ้ามักมาพร้อมกับผื่นแดง ผิวแห้ง และผิวอักเสบ เมื่อเผลอเกาหรือเสียดสีก็ยิ่งทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น แต่ปัญหานี้อาจบรรเทาได้หากรู้สาเหตุ
แม้จะเรียกว่าอาการคันในร่มผ้า แต่หลายคนมักหมายถึงอาการคันบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจพบอาการลักษณะเดียวกันในใต้ร่มผ้าส่วนอื่นได้เช่นกัน อาการคันในร่มผ้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจหายได้เอง แต่บางสาเหตุต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุที่อาจพบได้ทั่วไปของอาการคันในร่มผ้าและวิธีสังเกตตัวเองในเบื้องต้น
สาเหตุทั่วไปของอาการคันในร่มผ้า ปัญหากวนใจผู้หญิง
อาการคันและระคายเคืองของผิวหนังใต้ร่มผ้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุทั่วไปที่อาจพบ ได้แก่
1. ผิวแห้ง
ผิวแห้งเป็นปัญหาผิวที่พบได้ทั่วไป โดยอาจเกิดจากอากาศแห้งในช่วงหน้าหนาว การอาบน้ำบ่อยหรืออาบน้ำที่ร้อนจัด การดื่มน้ำน้อยทำให้ผิวขาดน้ำ พันธุกรรม รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารทำความสะอาดฤทธิ์แรงก็อาจทำให้ผิวแห้งได้เช่นกัน อย่างการใช้สบู่ที่มีสารฆ่าเชื้อโรคหรือการสครับผิวบ่อย ๆ ทำให้ผิวหนังสูญเสียชั้นไขมัน ผิวจึงแห้งและคัน
ดังนั้นหากไม่ได้เป็นคนผิวแห้ง แต่พบกับอาการคันในร่มผ้าและส่วนอื่นของร่างกายหลังใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ อยู่ในช่วงอากาศแห้ง หรือเปลี่ยนวิธีการอาบน้ำก็อาจเป็นไปได้ว่าสาเหตุของอาการคันอาจมาจากผิวที่แห้งขาดน้ำ โดยอาจสังเกตอาการเพิ่มเติม เช่น ผิวดูหยาบไม่เรียบเนียน ผิวลอก และเมื่อใช้เล็บขูดหรือเกาที่ผิวหนังมักมีเส้นสีขาวเป็นขุยเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการคันจากผิวแห้งมักเป็นอาการชั่วคราวและสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย การปรับวิธีการใช้ชีวิตอาจบรรเทา รักษา หรือป้องกันอาการผิวแห้งและอาการคันได้
2. ผื่นแพ้สัมผัส
ผื่นแพ้สัมผัสหรือ Contact Dermatitis เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง อักเสบ เป็นผื่นแดง และคันในร่มผ้า ซึ่งสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
ส่วนมากมักมาจากสิ่งในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำหอม สบู่ ครีมทาผิว น้ำยาซักผ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี รวมถึงอาการแพ้หรือไวต่อเนื้อผ้าบางชนิดที่สร้างความระคายเคืองต่อผิว
สำหรับอาการคันในร่มผ้าอาจเป็นการแพ้เนื้อผ้าของกางเกงชั้นในและกางเกง โดยชนิดของเนื้อผ้าที่ทำมาจากใยสังเคราะห์ อย่างโพลีเอสเตอร์ ไนลอน และสแปนเด็กซ์ อาจทำให้ผิวของบางคนที่สวมใส่เกิดแพ้ ระคายเคือง และเกิดอาการคันในร่มผ้าตามมาได้
บางครั้งการสวมใส่กางเกงชั้นในหรือกางเกงที่คับหรือแน่นจนเกินไป ร่วมกับเนื้อผ้าที่หยาบและความชื้นจากเหงื่ออาจเพิ่มความเสี่ยงอาการแพ้จากเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้มากขึ้น
โดยการสวมเสื้อผ้าที่ผ่านการซักด้วยน้ำยาซักผ้า ผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่มก็อาจทำให้สารเคมีติดมากับเสื้อผ้า หากคนที่แพ้หรือไวต่อเนื้อผ้าและสารทำความสะอาดเหล่านี้ก็อาจเสี่ยงต่อการแพ้และอาการคันในร่มผ้ามากยิ่งขึ้น
3. อาการระคายเคืองทั่วไป
การระคายเคืองนี้คล้ายกับผื่นแพ้สัมผัส แต่ต่างกันตรงที่อาการระคายเคืองทั่วไปไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งของหรือสารที่แพ้ แต่เกิดจากความเป็นพิษหรือฤทธิ์ของสารนั้น ๆ โดยการใช้ของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีส่วนผสมของสารเคมีอาจนำไปสู่อาการคันในร่มผ้าได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผงซักฟอก ยาสระผม แอลกอฮอล์ สารฟอกขาว หรืออาจเกิดจากการสัมผัสกับพืชบางชนิด
4. การติดเชื้อรา
การติดเชื้อราบริเวณผิวหนังใต้ร่มผ้า เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ทั้งบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบ เพราะบริเวณนี้มักอับชื้นจากเหงื่อที่เอื้อให้เชื้อราเติบโตจนเกิดการติดเชื้อขึ้น
โดยการติดเชื้อราบริเวณขาหนีบ คนอาจคุ้นเคยกันในชื่อสังคัง เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ซึ่งไม่ได้พบแค่ในผู้ชาย ผู้ที่ติดเชื้อราบริเวณขาหนีบอาจพบกับอาการคันในร่มผ้า ผื่นแดงเป็นวง ผิวแห้งลอก และอักเสบ
การติดเชื้อราบริเวณอวัยวะเพศหญิงหรือที่เรียกว่าการติดเชื้อราในช่องคลอดมักเกิดจากเชื้อรากลุ่มแคนดิดา (Candida) บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน ซึ่งทำให้คันอวัยวะเพศ เจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวเป็นสีขาวข้นจับตัวเป็นก้อน และไม่มีกลิ่น
นอกจากความชื้นและการขาดสุขอนามัยที่ดีแล้ว การใช้ของร่วมกับคนที่ผิวหนังติดเชื้อรา การสัมผัสกับดิน การสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อแล้วนำมาสัมผัสร่างกายก็อาจทำให้ติดเชื้อราได้ การติดเชื้อราบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจลามไปยังส่วนอื่นจนทำเกิดอาการที่รุนแรงขึ้น รักษายากขึ้น และติดต่อสู่คนใกล้ชิดที่ใช้ของร่วมกันได้
สาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งของอาการคันในร่มผ้าเท่านั้น ยังมีอีกหลายสาเหตุและปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดอาการคันในร่มผ้า และความผิดปกติของผิวหนังในลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกันได้ เช่น โรคประจำตัว ยารักษาโรค และพันธุกรรม หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
อาการคันในร่มผ้า บรรเทาได้
จากสาเหตุที่ได้พูดถึงไปในข้างต้น อาจพอช่วยให้หลีกเลี่ยงอาการคันที่แสนกวนใจนี้ได้ รวมทั้งมีวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยรับมือกับอาการคันในร่มผ้าได้ เช่น
- รักษาความสะอาดของร่างกายอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้นและเสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรค อย่างขาหนีบ อวัยวะเพศ รักแร้ และเท้า
- อาบน้ำอย่างเหมาะสมไม่ถี่และไม่ห่างกันจนเกินไป รวมทั้งอาบน้ำด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนจัดเพื่อป้องกันผิวแห้ง
- ใช้มอยซ์เจอไรเซอร์หรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นทุกครั้งหลังอาบน้ำเพื่อเพิ่มและรักษาความชุ่มชื้นของผิว
- สวมเสื้อผ้าที่สะอาด แห้ง ระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้านิ่มไม่ระคายผิว และไม่สวมเสื้อผ้าที่คับจนเกินไป โดยเฉพาะกางเกงชั้นในเพื่อลดการเสียดสี
- ทำความสะอาดเสื้อผ้าอย่างเหมาะสมและนำไปผึ่งแดด เพราะแสงแดดอาจยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว อย่างผ้าเช็ดตัวและกางเกงชั้นใน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีและสารก่อภูมิแพ้เพื่อป้องกันการระคายเคืองและอาการแพ้ที่ทำให้เกิดอาการคันในร่มผ้า
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผิว ไม่ผสมสารเคมีที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
- ล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสกับสิ่งสกปรก อย่างดิน สัตว์เลี้ยง ของใช้สาธารณะ และหลังเข้าห้องน้ำ
- งดการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้สภาวะกรดด่างในอวัยวะเพศเสียสมดุลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
- พยายามไม่เกาหรือถูผิวหนังบริเวณที่คันในร่มผ้าเพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- ใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคันที่เกิดจากอาการแพ้ โดยควรใช้ยาตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ
- ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคหรือยาฆ่าเชื้อราตามที่แพทย์สั่ง ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วอาการคันในร่มผ้ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ
วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการคันในร่มผ้าได้ในเบื้องต้น หากอาการคันไม่ดีขึ้นหลังจากการดูแลตนเองด้วยวิธีข้างต้น อาการรุนแรงขึ้น เป็นติดต่อกันนาน อาการเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน หรือพบอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น เป็นแผลพุพอง ผิวหนังอักเสบรุนแรง เลือดออก หรือเป็นหนอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม