ตาล้า (Eye Strain) เป็นภาวะที่ดวงตาอ่อนล้าที่เกิดหลังจากการใช้สายตาอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น เพ่งมองจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือขับรถทางไกล โดยอาการที่พบบ่อย เช่น ปวดตา ตาแห้ง เคืองหรือแสบร้อนดวงตา น้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน ตาไวต่อแสง ลืมตาไม่ขึ้น และปวดหัว คอ ไหล่ และหลัง
ตาล้าเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตา แต่ทำให้รู้สึกไม่สบายตาและเป็นอุปสรรคต่อการใช้สายตาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาจะช่วยให้อาการตาล้าดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาการตาล้าต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติที่ควรต้องได้รับการรักษา
ตาล้าเกิดจากอะไร
ตาล้าเป็นอาการที่พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุหลักมักมาจากการใช้สายตาเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องกันหลายชั่วโมงโดยไม่ได้พักสายตา โดยเฉพาะคนวัยทำงานและนักเรียนที่เรียนออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เหล่านี้
โดยปกติแล้ว เราจะกะพริบตาประมาณ 15 ครั้งต่อนาที แต่ขณะใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เราจะกะพริบตาเพียง 5–7 ครั้งต่อนาที ทำให้เกิดอาการตาแห้งและตาล้า รวมถึงหน้าจอที่สว่างจ้าและแสงไฟกะพริบที่หน้าจอก็อาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายตามากขึ้น
นอกจากนี้ ตาล้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- การใช้สายตาอ่านหนังสือ เย็บผ้า ขับรถ หรือเพ่งมองบางอย่างเป็นเวลานาน
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การนั่งใกล้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่พัดลมถูกใบหน้าโดยตรง ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น
- ปัญหาทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเขหรือตาเหล่ (Muscle Imbalance) หรือสวมแว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ที่ค่าสายตาไม่เหมาะกับตัวเอง
- การใช้โต๊ะทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน เช่น จอคอมพิวเตอร์ไม่พอดีกับระดับสายตา และเก้าอี้ทำงานที่ความสูงไม่พอดีกับโต๊ะ ทำให้ต้องนั่งหลังงอ หรือก้มหน้าเพื่อมองจอที่ไม่ตรงกับระดับสายตา ซึ่งอาจทำให้ปวดตา คอ ไหล่ และหลัง
- ความเครียดและร่างกายอ่อนเพลีย
ปรับพฤติกรรมเสี่ยงเลี่ยงตาล้า
แม้อาการตาล้ามักไม่รุนแรงจนทำให้เกิดปัญหาสายตาในระยะยาว แต่ก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การเรียน และการทำงาน ในเบื้องต้นลองปรับพฤติกรรมการใช้สายตาก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาล้าได้ เช่น
- ไม่ใช้สายตาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะทุก 20 นาที แล้วมองออกไปนอกหน้าต่างอย่างน้อย 20 วินาที จะช่วยลดอาการปวดตา ตาล้า และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด รวมถึงควรพักสายตา 15 นาทีหลังจากการใช้สายตาต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง เช่น นั่งทำงานหน้าจอนาน หรือขับรถทางไกล
- เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อย ๆ หรือใช้น้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
- เปิดไฟในห้องให้สว่างเพียงพอต่อการใช้สายตา ไม่ให้มืดหรือสว่างจ้าจนเกินไป ซึ่งแสงไฟที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะแตกต่างกัน เช่น การดูโทรทัศน์ในห้องที่แสงสลัวเล็กน้อยจะช่วยลดอาการตาล้าได้ แต่การอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ใช้สายตาเพ่งมอง อาจนั่งให้ไฟส่องจากทางด้านหลังจะเหมาะสมกว่า
- ปรับความสว่างของหน้าจอไม่ให้สว่างกว่าแสงรอบข้าง และปรับลดค่าความแตกต่าง (Contrast) ของหน้าจอ หากตั้งค่าไว้สูงจะทำให้หน้าจอคอมพิวเตอร์แสดงสีที่จัดจ้าน ทำให้เกิดอาการตาล้าได้ง่าย นอกจากนี้ อาจติดแผ่นกรองแสง (Filter) ที่หน้าจอเพื่อลดอาการปวดตา
- ปรับทิศทางพัดลมและเครื่องปรับอากาศในห้องหรือในรถไม่ให้ลมพัดโดนหน้าโดยตรง หากในห้องอากาศแห้งควรใช้เครื่องทำความชื้น ช่วยเพิ่มความชื้นในห้อง
- จัดโต๊ะทำงานและท่านั่งให้เหมาะสม เช่น วางคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับเดียวกับระดับสายตา มีระยะห่างระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ประมาณ 1 ช่วงแขน คีย์บอร์ดควรวางพอดีระดับข้อศอก เลือกเก้าอี้ที่พอดีกับสรีระ และสามารถนั่งหลังตรงแนบกับพนักพิงได้ หากมีช่องว่างระหว่างหลังและพนักพิงควรใช้หมอนรองหลัง และวางเท้าในระนาบเดียวกับพื้น
- เลือกแว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสมกับค่าสายตา โดยเฉพาะคนที่ใช้สายตาทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา และรับคำแนะนำในการเลือกแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ออกแบบมาเฉพาะ
- ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรสลับใส่แว่นตาเพื่อป้องกันอาการตาล้า
นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ เพราะหากพบปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็นจะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการตาล้าบ่อยหรือมีอาการต่อเนื่องโดยที่ปรับการใช้สายตาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา