สาเหตุของ โรคสะเก็ดเงิน
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินนั้นยังไม่แน่ชัด แต่เป็นสภาวะของร่างกายจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกว่าปกติหลายเท่า และร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวได้ ทำให้ผิวหนังเกิดทับซ้อนกันจนหนาขึ้น แตกเป็นขุย เพราะการผลัดเซลล์ผิวไม่เป็นไปตามปกติ
ปัจจุบันคาดการณ์ว่ากลไกที่ทำให้เกิดโรคอาจมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
ระบบภูมิคุ้มกัน
ในระบบร่างกายปกติ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ชนิดเซลล์ที จะทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อเกิดความผิดปกติ จึงทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป โดยจะเข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนังแทน
กรรมพันธ์ุ
ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือโรคทางด้านผิวหนังอื่น ๆ มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นโรคสะเก็ดเงิน แต่ปัจจัยนี้ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นการเกิดโรคได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากพบต้นเหตุที่เป็นสิ่งกระตุ้นได้ก็จะช่วยควบคุมอาการให้ได้ดีขึ้นได้ เช่น
- การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง ผิวหนังถูกทำลายหรือได้รับบาดเจ็บ เป็นรอยแผล โดนแมลงกัด การติดเชื้อ ผิวหนังไหม้ การสัก การเสียดสีหรือขูดบริเวณผิวหนังมากเกินไป
- การติดเชื้อบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคก็สามารถกระตุ้นให้ผิวหนังได้รับความเสียหายได้ โดยเฉพาะเชื้อบริเวณลำคอและระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัด ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ คออักเสบ หรือเชื้อเอชไอวี
- ยาบางประเภทที่ใช้รักษาโรคประจำตัวอาจส่งผลให้โรครุนแรงได้ เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ที่ใช้รักษาโรคไบโพล่าร์และโรคทางจิต ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจอย่างยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) หรือยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ที่เป็นยาต้านการอักเสบ
- น้ำหนัก ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีปัญหาน้ำหนักเกินอาจมีแนวโน้มเกิดรอยพับหรือย่นบริเวณผิวหนังได้มากกว่าคนทั่วไป
- ความเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต้องตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้น
- การดื่มแอลกอฮอล์อาจเป็นอีกตัวกระตุ้นในอาการเกิดหรือกำเริบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มปริมาณมาก ทั้งเพศชายและเพศหญิง
- ผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคสูงขึ้น ส่วนในรายที่มีอาการอยู่แล้วอาจทำให้อาการแย่ลงได้