การรักษา โรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาได้หายขาด ทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ดีขึ้น โดยจะช่วยลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง สามารถแบ่งวิธีการรักษาได้เป็นหลายวิธี
ยาทาภายนอก
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ยาในรูปแบบครีมและน้ำมันทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการโดยตรง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ เช่น
- ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Topical Corticosteroids)
- ยาทาในกลุ่มกรดวิตามินเอ (Topical Retinoids)
- ยาแอนทราลิน (Anthralin)
- ยาในกลุ่มสารเลียนแบบวิตามินดี (Vitamin D Analogue)
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
- มอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer)
- ยาในกลุ่มยับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin)
- ยาโคลทาร์ (Coal Tar)
ยารับประทานและยาฉีด
เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง แต่มักก่อให้เกิดผลข้างเคียง แพทย์จึงจะแนะนำให้ใช้ยาในระยะสั้น โดยยาที่ใช้รักษาแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น
- ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) ช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง
- ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) และยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เป็นยาที่กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เพื่อไม่ให้อาการกำเริบ แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยอ่อนแอลง
- ยากลุ่มสารชีวภาพ (Biologics) ที่ฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ มักใช้ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินรุนแรงหรือใช้วิธีอื่นรักษาไม่ได้ผลดี
การส่องไฟ (Phototherapy)
เป็นวิธีการรักษาที่ใช้รังสีอัลตราไวโอเลต เอ (UVA) และรังสีอัลตราไวโอเลต บี (UVB) ช่วยในการฆ่าเซลล์เม็ดเลือดขาวที่กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวกันอย่างรวดเร็วเกินปกติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการปานกลางไปจนถึงรุนแรงมักต้องใช้หลายวิธีในการรักษา ซึ่งจะช่วยลดอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบางรายก็อาจเลือกใช้วิธีเดียวในการรักษา หรืออาจสลับวิธีการรักษาเป็นครั้งคราว เนื่องจากบางวิธีอาจใช้ไม่ค่อยได้ผลกับผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระมัดระวังการรับประทานวิตามินเสริม หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงควบคุมน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมาได้