สาเหตุที่ทำให้ลิ้นเป็นแผล กับวิธีดูแลแผลที่ลิ้นให้หายดี

ลิ้นเป็นแผลมักจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือเกิดความเจ็บปวดในขณะที่กำลังพูด เคี้ยวอาหาร หรือกลืนน้ำลาย และอาจส่งผลต่อการพูดทำให้พูดไม่ชัด หรือส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติด้วย

ลิ้นเป็นแผลมักเกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย สามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ดังนั้น หากทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลที่ลิ้นก็จะช่วยให้รับมือกับอาการลิ้นเป็นแผลได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้ลิ้นเป็นแผล กับวิธีดูแลแผลที่ลิ้นให้หายดี

ลิ้นเป็นแผลเกิดจากอะไร

ลิ้นเป็นแผลสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

การบาดเจ็บทั่วไป

ลิ้นเป็นแผลมักเกิดจากการบาดเจ็บทั่วไป เช่น การกัดลิ้นขณะเคี้ยวอาหาร การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน มีฤทธิ์เป็นกรด หรือมีอุณหภูมิร้อนจัด ทำให้ลิ้นพองและเป็นแผลขึ้นมา นอกจากนี้ การนอนกัดฟัน หรือการกัดลิ้นขณะที่เกิดโรคลมชักก็สามารถทำให้เกิดแผลที่ลิ้นได้เช่นกัน แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

การแพ้อาหาร

ในบางกรณี ลิ้นเป็นแผลอาจเป็นผลมาจากการแพ้อาหารบางอย่างที่เรียกว่า Oral Allergy Syndrome ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดจากการที่เยื่อบุในช่องปากไปสัมผัสโดนสารประกอบในอาหารที่ทำให้แพ้  โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักผลไม้ดิบและถั่วบางชนิด โดยมักจะมีอาการอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น คันปาก คันคอ และริมฝีปาก หรือลิ้นมีอาการบวม 

การใช้ยาบางชนิด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่างอาจทำให้ลิ้นเป็นแผลได้ เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) บางชนิด อย่างยานาพรอกเซน (Naproxen) รวมถึงในกรณีของผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายหรือมีปัญหาปากแห้ง การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ก็อาจทำให้ลิ้นเป็นแผลได้ง่ายด้วย

การอักเสบและการติดเชื้อ

การที่ลิ้นเป็นแผลอาจเกิดการติดเชื้อบางอย่าง เช่น เชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) เชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก หรืออาจเกิดจากภาวะลิ้นอักเสบ (Glossitis) ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดโรคอื่นก็ได้เช่นกัน

การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่อย่างหนักอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ลิ้น เจ็บลิ้น และทำให้ลิ้นเป็นแผลตามมา ยิ่งไปกว่านั้น การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งสามารถทำให้เกิดแผลที่ลิ้นได้ด้วยเช่นกัน 

เมื่อลิ้นเป็นแผลควรทำอย่างไร

โดยทั่วไป ลิ้นเป็นแผลจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงและมักหายได้เองในช่วง 1–2 สัปดาห์โดยไม่ต้องทำการรักษา แต่หากมีอาการปวดบริเวณที่ลิ้นเป็นแผลมากอาจรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาแก้ปวดทั่วไป เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ 

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้ลิ้นเกิดอาการระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น เช่น  

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีลักษณะแข็ง มีรสชาติเผ็ดหรือเค็ม มีฤทธิ์เป็นกรด และมีอุณหภูมิร้อนจัด 
  • ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ไม่ควรแปรงฟันหรือแปรงลิ้นอย่างรุนแรง  
  • ไม่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารเอสแอลเอส (SLS: Sodium Lauryl Sulfate)

อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองแล้วอาการลิ้นเป็นแผลไม่ดีขึ้นภายในเวลา 2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ลิ้นเปลี่ยนสี อาการเจ็บลิ้นไม่ยอมหาย มีเลือดออกบริเวณที่ลิ้นเป็นแผล มีก้อนที่ลิ้นหรือในช่องปาก ไม่สามารถเคี้ยวอาหาร หรือกลืนอาหารได้ลำบาก ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นที่ร้ายแรง