ท้องลายหลังคลอดเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อยของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยผิวจะมีลักษณะเป็นเส้นสีชมพู แดง ม่วง หรือน้ำตาลขึ้นอยู่กับสีผิวของคุณแม่และระยะเวลาที่เป็น โดยอาจเกิดเฉพาะที่บริเวณหน้าท้อง หรืออาจเกิดที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น หน้าอก สะโพก และต้นขา ซึ่งอาจทำให้คุณแม่หลายคนหมดความมั่นใจได้
ท้องลายหลังคลอดเกิดจากการขยายตัวของผิวหนังเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ โดยทั่วไปไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่คุณแม่บางคนอาจมีอาการคันหรือไม่สบายผิวบริเวณที่แตกลาย รวมทั้งผิวที่ไม่เรียบเนียนสวยงามเหมือนเดิมอาจส่งผลให้เกิดความเครียดและทำให้ความมั่นใจลดลง
ท้องลายหลังคลอดเกิดจากอะไร
ผิวแตกลาย (Stretch Marks) ในคุณแม่ตั้งครรภ์มักเกิดจากการที่สรีระขยายใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของทารกในครรภ์ ทำให้อีลาสติน (Elastin) และเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นใต้ผิวหนังไม่สามารถรองรับการยืดของผิวหนังได้ จึงเกิดการฉีกขาด และเมื่อร่างกายเกิดการซ่อมแซมสร้างใหม่ทดแทน ผิวสัมผัสจะต่างจากเดิม ทำให้เกิดเป็นรอยยุบตัวเป็นเส้นที่ผิวหนัง
นักวิจัยบางส่วนเชื่อว่า ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท้องลายหลังคลอด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะดูดน้ำเข้าสู่ผิวมากขึ้น ทำให้พันธะระหว่างคอลลาเจนคลายตัวลง จึงเกิดรอยแตกลายได้ง่ายเมื่อผิวหนังขยายตัว รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น พันธุกรรมและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มักสังเกตเห็นรอยแตกลายที่หน้าท้องได้ชัดเจนเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6–7 เดือน หรือบางคนอาจเริ่มสังเกตเห็นเมื่อหน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งท้องลายหลังคลอดมีลักษณะเป็นวงจร ดังนี้
- ระยะแรก รอยแตกลายมักมีสีชมพูอ่อน มีลักษณะเป็นเส้นบาง ๆ ไม่แตกต่างจากผิวปกติมากนัก และอาจทำให้รู้สึกคัน
- ระยะที่ 2 เมื่อเวลาผ่านไปรอยแตกลายจะเริ่มขยายใหญ่ มีสีเข้มขึ้น เช่น เป็นสีแดงหรือม่วงคล้ำ และนูนมากขึ้น
- ระยะที่ 3 รอยแตกจะเริ่มมีสีจางลงจนมีสีสว่างกว่าผิวบริเวณรอบ ๆ หรือกลายเป็นสีจางหลังจากคลอดได้ 6–12 สัปดาห์ และผิวยุบลงเมื่อใช้นิ้วกดที่รอยแตกลาย การรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ระยะนี้จะยากมาก
ท้องลายหลังคลอดรักษาอย่างไร
ท้องลายหลังคลอดเป็นปัญหาผิวที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้และไม่สามารถทำให้ผิวกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ทุกประการ เนื่องจากเป็นรอยที่เกิดขึ้นถาวร แต่การรักษาจะช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงและช่วยบรรเทาอาการคันที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่
ทั้งนี้ ผลการศึกษาในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีครีม เจล หรือโลชั่นทาผิวชนิดใดที่สามารถรักษารอยแตกลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การทาครีมบำรุงขณะตั้งครรภ์จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ทำให้ผิวเรียบเนียน สีสม่ำเสมอขึ้น ช่วยลดอาการคัน และช่วยป้องกันท้องลายหลังคลอดได้
การทาครีมบำรุงเพื่อป้องกันท้องลายหลังคลอด ควรเริ่มทาตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพราะการทาหลังจากเกิดรอยแตกลายมักไม่ช่วยให้รอยที่ผิวดีขึ้นมากนัก โดยนวดให้ครีมซึมเข้าสู่ผิวในบริเวณที่มีโอกาสเกิดท้องลายหลังคลอด เช่น หน้าอก หน้าท้อง สะโพก ต้นขา
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกครีมทาผิวที่อ่อนโยน ไม่มีส่วนประกอบของสารอันตรายต่อตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ เช่น เรตินอล (Retinol) และเตรทติโนอิน (Tretinoin) ในกลุ่มวิตามินเอ พทาเลต (Phthalate) ที่เป็นสารเพิ่มความยืดหยุ่นในเครื่องสำอาง ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) และพาราเบน (Parabens) ซึ่งเป็นสารกันเสีย
หากคุณแม่มีปัญหาและกังวลอย่างมากเรื่องท้องลายหลังคลอด อาจปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาอื่นเพิ่มเติม เช่น การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซึ่งอาจช่วยให้ปัญหาท้องลายหลังคลอดจางลง
ท้องลายหลังคลอดเป็นปัญหาผิวที่พบบ่อย การทาครีมบำรุงผิวตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงในช่วงแรกที่เกิดรอยแตกลายจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการคัน และป้องกันไม่ให้ปัญหาบานปลาย หากท้องลายหลังคลอดเป็นมาก การรักษากับแพทย์ผิวหนังอาจช่วยให้รอยดูจางลง แต่มักไม่สามารถรักษารอยแตกลายให้หายสนิทได้
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของท้องลายหลังคลอดด้วยควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์