สิวขึ้นกรอบหน้ามักมีลักษณะเป็นตุ่มแดงแข็ง ไม่มีหัวหนอง และเกิดการอักเสบที่ผิวชั้นลึก สิวขึ้นกรอบหน้าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเกี่ยวข้องกับกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และความเครียด รวมทั้งปัจจัยที่นอกเหนือจากฮอร์โมน เช่น การสัมผัสบริเวณกรอบหน้าบ่อย ๆ การใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง
สิวเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน ซึ่งเกิดจากสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ เมื่อมีแบคทีเรียเข้าไปในรูขุมขนจะทำให้เกิดการอักเสบของสิวขึ้น การรักษาสิวขึ้นกรอบหน้ากับแพทย์ผิวหนังอย่างเหมาะสมควบคู่กับการดูแลความสะอาดของผิว จะช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น ไม่ทิ้งรอยสิว และลดการเกิดสิวซ้ำ
สาเหตุที่ทำให้สิวขึ้นกรอบหน้า
สิวขึ้นกรอบหน้าและคางมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันมากขึ้น ทำให้รูขุมขนอุดตันง่าย โดยพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ สิวขึ้นกรอบหน้าในผู้หญิงอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- การมีประจำเดือน โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 7–10 วัน
- การเริ่มใช้หรือเปลี่ยนยาคุมกำเนิดที่ใช้อยู่
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกที่ทำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลิตน้ำมันบนใบหน้าเพิ่มขึ้น
- ความเครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามากขึ้นเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น
- กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) เป็นภาวะที่ผู้หญิงมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ และเกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
นอกจากปัจจัยด้านฮอร์โมน สิวขึ้นกรอบหน้าอาจเกิดจากการใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสบริเวณกรอบหน้าบ่อย ๆ การใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าหรือเครื่องสำอางใหม่ การสวมหมวกกันน็อกที่สายรัดคางรัดแน่นจนเกินไป หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาต้านเศร้า และวิตามินบี
อย่างไรก็ดี ตุ่มแดงคล้ายสิวที่ขึ้นบริเวณกรอบหน้าอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคต่าง ๆ เช่น
- โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) เป็นผื่นแดงและคันที่เกิดจากการสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคืองบริเวณใบหน้า เช่น โฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง และยาย้อมผม
- โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) ทำให้เกิดตุ่มหนองหรือตุ่มสีแดงคล้ายสิวบนใบหน้า โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของจากกรรมพันธุ์และปัจจัยแวดล้อม
- รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือสิว
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) อาจทำให้เกิดผื่นแดง เนื่องจากการติดเชื้อจากผิวหนังที่เกิดรอยแยกหรือรอยแตก
- ฝี ทำให้เกิดก้อนนูนแดง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อภายในรูขุมขน
แนวทางการรักษาสิวขึ้นกรอบหน้า
สิวขึ้นกรอบหน้าที่เกิดจากฮอร์โมนมักเกิดในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็มักจะเห่อขึ้นมาใหม่ ผู้ที่เป็นสิวสามารถดูแลรักษาสิวด้วยตัวเอง ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการบีบสิว
ไม่ควรแกะ บีบ หรือกดสิวเอง เพราะสิวขึ้นกรอบหน้ามักเป็นสิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่ การบีบสิวจะทำให้สิวอักเสบรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดรอยดำจากสิวที่หายได้ยาก รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าด้วยมือที่ไม่สะอาดด้วย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสิวมากขึ้น
2. ล้างหน้าให้สะอาด
ควรล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอน โดยล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อน จากนั้นจึงตามด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม และสารผลัดเซลล์ผิว เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวเกิดการระคายเคือง
3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดสิว
ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดสิวขึ้นกรอบหน้า โดยเฉพาะการสวมหมวกกันน็อกที่มีสายรัดใต้คางแน่นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีที่ใต้คาง และทำให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวได้ และควรล้างหน้าให้สะอาดหลังจากถอดหมวกกันน็อกด้วย
4. ปรับการรับประทานอาหาร
ควรปรับการรับประทานอาหาร โดยลดปริมาณการรับประทานอาหารจำพวกน้ำตาล ขนมปังขาว อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์นม เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ง่าย
5. ใช้ยาแต้มสิว
หากสิวที่เกิดขึ้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลต่อความมั่นใจ สามารถใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง ซึ่งยาแต้มสิวเหล่านี้มักมีส่วนผสมของเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) หรือสารธรรมชาติ เช่น ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) และสารสกัดชาเขียว ที่อาจมีสรรพคุณในการช่วยรักษาสิวได้
หากสิวที่ขึ้นกรอบหน้ายังไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์หลังจากดูแลผิวด้วยตัวเอง หรืออาการของสิวรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจรักษาสิวด้วยยาชนิดต่าง ๆ ดังนี้
ยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดนิยมใช้รักษาสิวที่เกิดจากฮอร์โมนในผู้หญิง เช่น ประจำเดือน และกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ การกินยาคุมกำเนิดที่มีทั้งเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน จะช่วยลดปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งจะลดการผลิตน้ำมันบนใบหน้าและรักษาสิวได้
เรตินอยด์
เรตินอยด์ (Retinoids) มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาบริเวณที่เป็นสิว โดยเป็นกลุ่มของกรดวิตามินเอที่จะออกฤทธิ์ช่วยผลัดเซลล์ผิว และลดการอุดตันของรูขุมขน จึงช่วยลดสิวได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนการตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้เรตินอยด์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
ยาปฏิชีวนะ
ในบางกรณี แพทย์อาจรักษาสิวโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งยาปฏิชีวนะจะออกฤทธิ์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ทำให้สามารถลดการเกิดสิวลงได้ ยาปฏิชีวนะอาจอยู่ในรูปโลชั่น เจล ครีม หรือยาชนิดรับประทาน
ยาสไปโรโนแลคโตน
ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาขับปัสสาวะที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจสามารถช่วยรักษาสิวฮอร์โมนที่เกิดขึ้นบริเวณกรอบหน้าได้เช่นกัน โดยยาชนิดนี้จะใช้รักษาสิวในผู้หญิง เนื่องจากการใช้ยาชนิดนี้ในผู้ชายอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
การใช้ยาเหล่านี้ควรใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาสิวด้วยวิธีอื่นควบคู่การใช้ยา เช่น การเจาะเอาหนองจากสิวออก การเลเซอร์ การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels)
โดยทั่วไป สิวขึ้นกรอบหน้าที่ไม่รุนแรงมักดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน ส่วนสิวที่มีขนาดใหญ่ รุนแรง และเรื้อรัง จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากรับการรักษากับแพทย์ผิวหนังภายใน 2–3 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์อาจให้ใช้ยาหรือเข้ารับการรักษาต่อไปแม้ว่าสิวจะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อช่วยป้องกันการเกิดสิวซ้ำ และป้องกันการเกิดแผลเป็นจากสิว