สิวบอกโรค รู้จักความหมายและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

สิวบอกโรค คือสิวที่อาจเป็นสัญญาณของโรคและปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยสิวบอกโรคมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบ่อยครั้ง เช่น หน้าผาก แก้ม คาง กราม นอกจากสิวบอกโรคจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างแล้ว ยังอาจช่วยให้รับมือกับปัญหาสุขภาพเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องอีกด้วย 

สิวอาจเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตันด้วยน้ำมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว แบคทีเรีย และสิ่งสกปรกต่าง ๆ โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิวหรือทำให้สิวมีอาการรุนแรงขึ้นมีหลายปัจจัย เช่น ความเครียดฮอร์โมนแปรปรวน รวมถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยทั้งสิวและสิวบอกโรคมักพบได้ในทุกช่วงวัย แต่อาจพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น 

Acne might be a sign of diseases

รู้จักสิวบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม

สิวบอกโรคอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละตำแหน่งของสิว เช่น 

1. สิวบริเวณไรผม

สิวบริเวณไรผมอาจเป็นสิวบอกโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแปรปรวน ซึ่งจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาเยอะกว่าปกติ และทำให้เกิดสิวได้ โดยระดับฮอร์โมนเกิดการแปรปรวนอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ช่วงวัยรุ่นที่มักมีระดับฮอร์โมนแปรปรวน อาการก่อนมีประจำเดือน กำลังตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม สิวบริเวณไรผมมักเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การไม่สระผม การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ซึ่งสิ่งสกปรกและน้ำมันอาจอุดตันรูขุมขน และทำให้เกิดสิวตามมาได้

2. สิวบริเวณทีโซน (T-Zone)

ทีโซนคือบริเวณหน้าผาก จมูก และคาง โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีรูขุมขนกว้างและมีความมันมากกว่าบริเวณอื่น จึงทำให้มีโอกาสเกิดสิวสูง

โดยสิวบริเวณนี้อาจเป็นสิวบอกโรคหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น เครียด อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจหมายถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ดี หรือดื่มน้ำน้อยเกินไปได้อีกด้วย

3. สิวบริเวณแก้ม

สิวที่แก้มมักเกิดจากการสัมผัสสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น มลพิษในอากาศ หรือแบคทีเรียจากมือ ปลอกหมอน หน้าจอโทรศัพท์ และสิ่งของอื่น ๆ ที่สัมผัสแก้มเป็นประจำ โดยสิ่งสกปรกเหล่านี้อาจอุดตันในรูขุมขนและทำให้เกิดสิวได้

โดยสิวบริเวณแก้มอาจเป็นสิวบอกโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลในเลือด โดยน้ำตาลในเลือดสูงอาจกระตุ้นร่างกายให้ผลิตน้ำมันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวที่แก้ม รวมถึงบริเวณอื่นได้

ทั้งนี้ ตุ่มและรอยแดงบริเวณแก้มอาจไม่ใช่สิวเสมอไป แต่อาจเป็นอาการของโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย ซึ่งทำให้มีผื่นนูนแดงที่มีลักษณะคล้ายสิว รูขุมขนกว้าง เห็นรอยเส้นเลือดฝอย และอาจมีอาการเกี่ยวกับตาร่วมด้วย เช่น ตาแดง ตาบวม เคืองตา

4. สิวบริเวณคางและกราม

สิวบริเวณคาง กราม หรือตามกรอบหน้า มักเป็นสิวบอกโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น การมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง โดยการมีระดับฮอร์โมนสูงอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำมันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวฮอร์โมนตามมาได้

ในบางราย สิวบริเวณคางและกรามยังอาจเป็นสัญญาณภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนบางชนิดสูงผิดปกติ เช่น เทสโทสเตอโรน อินซูลิน โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ และส่งผลให้ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ นอกจากนี้ สิวบริเวณคางและกรามยังอาจเกิดจากรูขุมขนอักเสบ ซึ่งมักพบบ่อยในผู้ที่โกนหนวดเป็นประจำอีกด้วย

วิธีรับมืออย่างเหมาะสมเมื่อพบสิวบอกโรค

สิวบอกโรคอาจรับมือได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยรักษาสิวให้ดีขึ้น เช่น 

  • ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง โดยควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้าที่มีส่วนผสมของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวและลดความมันบนใบหน้า หรือมีส่วนผสมอของกรดซาลิไซลิกเพื่อช่วยขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขน
  • ใช้เรตินอลที่ผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ โดยเรตินอลจะช่วยกำจัดสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขน และช่วยผลัดเซลล์ผิว ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันในรูขุมขนได้
  • ใช้เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน
  • ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้า ผ้าปูที่นอน หรือหน้าจอโทรศัพท์เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกจากมือเข้าไปอุดตันในรูขุมขน
  • ลดปริมาณการรับประทานน้ำตาลหรืออาหารรสหวานให้น้อยลง
  • คลายเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฟังเพลง การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ

นอกจากนี้ หากมีสิวบอกโรคเกี่ยวกับฮอร์โมน อาจลองใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้สมดุล แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ทั้งนี้ หากดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว แต่สิวยังคงไม่ดีขึ้นหรือสิวมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับความรุนแรงของสิว