สิวหัวช้าง (Nodular Acne) มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง บวมแดง มีขนาดใหญ่ และรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส ซึ่งสิวหัวช้างอาจเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน คือต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป การสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการมีแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของสิวขึ้น
สิวหัวช้างจัดเป็นสิวชนิดรุนแรง ซึ่งมักไม่หายดีแม้จะดูแลผิวและใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง ผู้ที่มีสิวหัวช้างเรื้อรัง รุนแรง และส่งผลต่อความมั่นใจ ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิว ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น และป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นจากสิว
ลักษณะของสิวหัวช้าง
โดยทั่วไป สิวเกิดจากการสะสมของน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทำให้เกิดการอุดตันภายในรูขุมขน สิวหัวช้างเป็นสิวที่เกิดการอักเสบร่วมด้วย เนื่องจากของมีเชื้อแบคทีเรีย P. Acnes มากผิดปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียนี้พบได้บนผิวหนังและในรูขุมขน และไม่ก่ออาการผิดปกติต่อผิว แต่เมื่อรูขุมขนเกิดการอุดตันจะทำให้แบคทีเรียนี้เพิ่มจำนวนขึ้นและทำให้กลายเป็นสิวอักเสบได้
สิวหัวช้างมีลักษณะ ดังนี้
- เป็นสิวที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังชั้นลึก เกิดเป็นตุ่มนูน แข็ง และมีขนาดใหญ่
- มักมีสีชมพูหรือแดง ไม่มีหัวหนองปรากฏให้เห็นเหมือนสิวอุดตันประเภทอื่น
- เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บปวด
- หายช้า และมักทำให้เกิดรอยสิวตามมา
- พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้ชายมักมีสิวหัวช้างขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าอก และหลัง ส่วนผู้หญิงมักมีสิวหัวช้างที่บริเวณคางและกรอบหน้า
สิวหัวช้างมีลักษณะคล้ายสิวซีสต์ (Cystic Acne) ซึ่งเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง โดยสิวซีสต์เมื่อสัมผัสจะนิ่มกว่าสิวหัวช้าง เนื่องจากตุ่มสิวประกอบด้วยหนองปนเลือด ทั้งนี้ บางคนอาจมีสิวทั้งสองประเภทนี้อยู่บนใบหน้าได้เช่นกัน
รักษาสิวหัวช้างให้หายชัวร์
เนื่องจากสิวหัวช้างเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงและขึ้นอยู่ใต้ผิวหนังชั้นลึก จึงยากที่จะรักษาได้ด้วยการดูแลผิวและการซื้อยาแต้มสิวมาใช้เอง และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีรักษาสิวหัวช้าง มีดังนี้
1. การใช้ยารักษาสิวตามที่แพทย์สั่ง
แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาสิวในรูปแบบต่าง ๆ โดยผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อช่วยรักษาสิวหัวช้าง เช่น
ยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาสิวหัวช้างอาจเป็นยาทา เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือยารับประทาน เช่น เตตราไซคลีน(Tetracycline) ซึ่งช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย P. Acnes ที่ก่อให้เกิดสิว และลดการอีกเสบของผิว
การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิวควรใช้ตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง เพราะการใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้
ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids)
เรตินอยด์เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอที่ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน โดยอาจอยู่ในรูปยาทา และยาชนิดรับประทาน เช่น ไอโซเดรทติโนอิน (Isotretinoin) ในกรณีที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผลหรือเป็นสิวหัวช้างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
ยารักษาสิวอื่น ๆ ที่มีความเข้มข้นสูง
เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อะดาพาลีน (Adapalene) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันรูขุมขนอุดตัน ซึ่งแพทย์อาจให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนการตั้งครรภ์ใช้แทนยากลุ่มเรตินอยด์ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเหล่านี้ให้ใช้ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
ยาที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมน
สิวหัวช้างอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งช่วยลดการอักเสบและช่วยให้สิวยุบลง และยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ซึ่งช่วยชะลอหรือยับยั้งการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวหัวช้าง
2. การรักษาสิวด้วยวิธีการทางการแพทย์
นอกจากการใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรักษาสิวด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น
- การฉีดสิวด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ใช้รักษาสิวที่มีขนาดใหญ่ บวมแดง และเจ็บ ตัวยาจะช่วยลดการอักเสบ ช่วยให้สิวยุบเร็ว และลดการเกิดรอยสิว
- การกดสิว โดยแพทย์จะใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะหัวสิวให้เปิด แล้วใช้เครื่องมือกดสิวกดให้หัวสิวและของเหลวภายในสิวหลุดออกมา
- วิธีอื่น ๆ เช่น การใช้สารเคมีผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peel) และการเลเซอร์เพื่อลดการอักเสบและฆ่าเชื้อสิว เป็นต้น
ผู้ที่เป็นสิวควรดูแลผิวที่เป็นสิวควบคู่กับการรักษาด้วยการใช้ยาและการรักษากับแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้สิวหายเร็วขึ้น ป้องกันไม่ให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น และป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นจากสิว ดังนี้
- ล้างหน้าให้สะอาดด้วยโฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิวในตอนเช้า ก่อนเข้านอน และออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออก
- สระผมให้สะอาดทุกวัน เนื่องจากเหงื่อ น้ำมัน และสิ่งสกปรกจากเส้นผมและหนังศีรษะอาจทำให้เกิดสิวได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอางที่อุดตันรูขุมขน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของสารทำให้รูขุมขนอุดตัน (Non-Comedogenic)
- โกนหนวดอย่างระมัดระวัง
- งดสครับผิว มาส์กหน้า และใช้สารผลัดเซลล์ผิวในช่วงที่เป็นสิวหัวช้าง
- ไม่บีบ แกะ หรือกดสิวหัวช้างด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น และอาจทำให้เกิดรอยสิว
- ประคบเย็นบริเวณที่เป็นสิว เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดการอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด และทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาเรตินอยด์ ซึ่งอาจทำให้ผิวไวต่อแสงได้
สิวหัวช้างเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่รักษาด้วยตัวเองได้ยาก ซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวด และอาจส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจในการใช้ชีวิต การรักษาสิวกับแพทย์ผิวหนังควบคู่กับการดูแลผิวด้วยตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สิวหายเร็วขึ้นโดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น