สิวหัวหนอง ปัญหาผิวกวนใจ และแนวทางรักษา

สิวหัวหนองเป็นสิวอักเสบ (Inflammatory Acne) ที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนจากไขมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว ฝุ่นละออง และเครื่องสำอาง รวมทั้งมีเชื้อแบคทีเรียเข้ามาเจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว จึงทำให้เกิดการอักเสบและกลายเป็นหนอง โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือสิวตุ่มแดง สิวตุ่มหนอง สิวหัวช้าง และสิวซีสต์

สิวหัวหนองมักพบบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น ใบหน้า ลำคอ หน้าอก ไหล่ และหลัง สิวหัวหนองแต่ละประเภทมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งบางชนิดสามารถหายได้เองโดยใช้ยาแต้มสิว แต่บางชนิดที่รุนแรงควรรับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผิวหนัง

สิวหัวหนอง ปัญหาผิวกวนใจ และแนวทางรักษา

สิวหัวหนอง 4 ประเภท

สิวทุกประเภทเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน แต่มีเพียงสิวอักเสบเท่านั้นที่มีลักษณะเป็นสิวหัวหนอง ส่วนสิวชนิดที่ไม่อักเสบ เช่น สิวหัวดำและสิวหัวขาว เป็นสิวที่เกิดจากการที่ไขมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันอยู่ในรูขุมขน โดยไม่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในตุ่มสิว จึงไม่เกิดการอักเสบและไม่มีหนอง ทั้งนี้ สิวหัวหนองแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • สิวตุ่มแดง (Papules) มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็ก เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ หากเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นจะมีหนองอยู่ภายในตุ่มสิว
  • สิวตุ่มหนอง (Pustules) ลักษณะคล้ายสิวตุ่มแดง แต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีหัวหนองอยู่กลางตุ่ม ส่วนใหญ่พัฒนามาจากสิวตุ่มแดง
  • สิวหัวช้าง (Nodules) มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ มีหนอง และแข็ง เกิดขึ้นที่ผิวหนังชั้นลึก เมื่อสัมผัสโดนตุ่มสิวแล้วรู้สึกเจ็บ
  • สิวซีสต์ (Cysts) เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นที่ผิวหนังชั้นลึกและรักษายาก มีลักษณะตุ่มขนาดใหญ่ที่มีหนองและเลือดอยู่ภายใน สัมผัสแล้วเจ็บ และมักทิ้งรอยสิวหลังรักษาหายแล้ว

แนวทางการรักษาสิวหัวหนอง

วิธีการรักษาสิวหัวหนองจะแตกต่างกันตามประเภทของสิว หากอาการไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาได้ด้วยการดูแลผิวและทายาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง แต่ในบางกรณีอาจต้องไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม

การดูแลผิว

วิธีการดูแลผิวเมื่อเป็นสิวหัวหนอง มีดังนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอนด้วยโฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันที่อาจอุดตันผิว และสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากแต่งหน้า ควรทำความสะอาดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนเข้านอน
  • อาบน้ำและสระผมห้สะอาดทุกวัน เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก น้ำมันส่วนเกิน และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวที่ใบหน้า คอ หน้าอก และหลัง โดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้ง
  • ใช้ครีมทาผิวและเครื่องสำอางที่ไม่มีน้ำมัน และไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของสิวรุนแรงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทนเนอร์ (Toner) ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว และผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองขณะที่เป็นสิวหัวหนอง และเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนเป็นสิว ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และสารที่ทำให้เกิดการอุดตันผิว
  • ไม่ควรแกะ เกา บีบ กดสิว หรือขัดผิวแรง ๆ เพราะอาจทำให้สิวอักเสบรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการเกิดรอยสิว
  • หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด และการใช้เตียงอาบแดด (Tanning Beds) ควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำให้เพียงพอ

การใช้ยาทาที่หาซื้อได้เอง

ยาทาผิวสำหรับคนที่เป็นสิวหัวหนองสามารถหาซื้อได้ทั่วไปมีหลายชนิด โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้ เช่น

เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)

เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียพี-แอคเน่ (P. Acnes) ที่อยู่ในรูขุมขน หากมีแบคทีเรียชนิดนี้ในรูขุมขนจำนวนมาก จะกระตุ้นให้เกิดสิวอักเสบตามมา เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์มีทั้งรูปแบบเจล ครีม โลชั่น และโฟมล้างหน้า ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นต่างกัน

ข้อควรระวังในการใช้คือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์อาจทำให้ผิวแห้งลอก จึงควรใช้เฉพาะบริเวณที่เป็นสิว และหากใช้พร้อมเรตินอยด์ (Retinoid) อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง หากใช้แล้วรู้สึกระคายเคือง ควรล้างออกโดยไม่ทาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ทิ้งไว้นานเกินไป และควรลดความถี่ในการใช้จนกว่าผิวจะปรับสภาพได้

กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)

กรดซาลิไซลิกมีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว ช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วที่ตกค้างอยู่ในรูขุมขน ช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่ และช่วยให้รอยสิวจางลง เหมาะกับการรักษาสิวชนิดที่ไม่รุนแรง โดยกรดซาลิไซลิกมีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5–2% หลังใช้ควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้น เพราะกรดซาลิไซลิกอาจทำให้ผิวแห้งได้

เรตินอล (Retinol)

เรตินอลเป็นสารในกลุ่มวิตามินเอที่ช่วยป้องกันการเกิดสิว ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ในช่วงแรกอาจทำให้สิวที่อยู่ใต้ผิวหนังเห่อขึ้นได้ แต่จะค่อย ๆ ยุบลงและหายไป ปริมาณในการใช้เรตินอลที่เหมาะสมคือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ทาทั่วใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณที่เกิดสิวได้ง่าย เริ่มจากสัปดาห์ละ 2–3 ครั้งและค่อย ๆ เพิ่มความถี่ในการใช้

ทั้งนี้ เรตินอลอาจทำให้ผิวแห้งและไวต่อแสงแดด จึงควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์และครีมกันแดดหลังจากทาเรตินอลเสมอ หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้เรตินอล 

นอกจากนี้ การใช้แผ่นแปะสิว และน้ำมันทาผิว เช่น ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) และน้ำมันลาเวนเดอร์อาจช่วยให้สิวยุบเร็วขึ้น 

รวมทั้งผลการวิจัยบางส่วนระบุว่าการรับประทานอาหารเสริมบางชนิด เช่น น้ำมันปลา ซิงค์ (Zinc) อาจช่วยในการรักษาสิวได้ อย่างไรก็ตาม ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารเสริม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง

หากใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการตรวจและรักษา ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาสิวหัวหนองเพิ่มเติม เช่น

เรตินอยด์ (Retinoid)

เรตินอยด์ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) และอะดาพาลีน (Adapalene) จะมีฤทธิ์แรงกว่าเรตินอลที่หาซื้อได้เอง และช่วยรักษาสิวอักเสบได้ดี 

เช่นเดียวกับการใช้เรตินอล สารในกลุ่มเรตินอยด์อาจทำให้ผิวแห้ง แดง ลอก และทำให้ผิวไวต่อแดด จึงควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นและทาครีมกันแดดตามเสมอ และหญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้สารในกลุ่มเรตินอยด์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

ยาปฏิชีวนะ

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) และอิริโทรมัยซินwww.pobpad.com/erythromycin (Erythromycin) ชนิดทาผิวหรือชนิดรับประทาน เพื่อรักษาสิวหัวหนองที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียพีแอคเน่ โดยทั่วไป แพทย์มักให้ใช้ยาปฏิชีวนะในระยะสั้น ๆ และไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่เพียงอย่างเดียวในการรักษาสิว เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้อยา

ยาที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมน

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยหญิงรับประทานยาคุมกำเนิด กรณีที่มักมีสิวหัวหนองในช่วงที่มีประจำเดือน และยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Anti-Androgen Medication) อาจช่วยรักษาสิวหัวช้างและสิวซีสต์ในผู้ที่มีระดับฮฮร์โมนแอนโดรเจนสูง

ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin)

ไอโซเตรติโนอินเป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ มีคุณสมบัติยับยั้งต่อมไขมันในการการผลิตน้ำมันส่วนเกินที่ผิว ช่วยผลัดเซลล์ผิว และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียพีแอคเน่ที่เป็นสาเหตุของสิวหัวหนอง นิยมใช้รักษาสิวอักเสบที่มีอาการรุนแรง 

ทั้งนี้ การใช้ยาไอโซเตรติโนอินอาจทำให้ผิวแห้งลอกและไวต่อแสงแดด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทารักษาสิวชนิดอื่นขณะใช้ยาไอโซเตรติโนอิน หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้สารในกลุ่มเรตินอยด์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้เช่นกัน

การฉีดยาคอร์ติโซน (Cortisone) 

คอร์ติโซนเป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่ใช้ในการรักษาสิวหัวหนองชนิดรุนแรง เช่น สิวหัวช้างและสิวซีสต์ ตัวยาจะช่วยลดอาการบวมแดง และความเจ็บปวดภายในระยะเวลาไม่กี่วัน และช่วยป้องกันการเกิดรอยสิวหลังจากสิวยุบได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวบริเวณที่ฉีดยาบุ๋มลงไป หรือสีผิวบริเวณที่ฉีดยาสว่างกว่าผิวบริเวณอื่น ไปจนถึงการแพ้ยา และการที่สารสเตียรอยด์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดหากฉีดปริมาณมากเกินไป จึงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนตัดสินใจรักษาสิวหัวหนองด้วยการฉีดสารสเตียรอยด์เสมอ

สิวหัวหนองเป็นสิวที่พบได้บ่อยเมื่อมีการอักเสบของสิว หากดูแลผิวด้วยตัวเองแล้วสิวยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีสิวซีสต์ขึ้นกระจายทั่วไปหน้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา เนื่องจากเป็นสิวชนิดรุนแรงที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์