สิวเป็นไต คือสิวชนิดหนึ่งที่มีการอักเสบอย่างรุนแรง โดยสิวชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อขนาดใหญ่ภายใต้ชั้นผิวหนังโดยมักไม่พบหัวสิวร่วมด้วย ร่วมกับการเกิดรอยแดงและอาการปวดรุนแรงบริเวณที่เกิดสิว
สิวเป็นอาการทางผิวหนังที่เกิดจากการที่รูขุมขนเกิดการอุดตันจากไขมันส่วนเกินร่วมกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วจนเกิดเป็นสิวอุดตัน โดยในกรณีสิวเป็นไต สิวชนิดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสิวที่เกิดการอุดตันอยู่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดการอักเสบตามมา
รู้จักกับปัจจัยเสี่ยงที่มักส่งผลให้เกิดสิวเป็นไต
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสิวเป็นไตมีสาเหตุมาจากการที่สิวที่อุดตันอยู่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดกลไกดังกล่าวที่มักพบได้ก็เช่น
- การล้างหน้าไม่สะอาด การขัดถูใบหน้าอย่างรุนแรง หรือการสครับผิวหน้าบ่อยเกินไป
- ความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากขึ้น จนรูขุมขนเสี่ยงต่อการอุดตันได้
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ตั้งครรภ์ มีประจำเดือน และช่วงใกล้เข้าสู่วัยทอง
- พันธุกรรม ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเกิดสิวเป็นไต อาจมีโอกาสเกิดสิวเป็นไตได้ง่าย
- สารบางชนิดในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าหรือเครื่องสำอาง
- ภาวะเหงื่อออกมาก เนื่องจากผิวที่เปียกเหงื่ออาจมีโอกาสเกิดสิวเป็นไตได้ง่าย
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
สิวเป็นไต ป้องกันและรักษาอย่างไรดี
ในการป้องกันการเกิดสิวเป็นไต วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น
- ล้างหน้าให้สะอาด หรือหากมีเหงื่อออกมากระหว่างวัน อาจจะล้างด้วยสบู่ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนด้วย เพื่อป้องกันผิวจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ และผู้ที่แต่งหน้า ควรหลีกเลี่ยงการเข้านอนโดยไม่ล้างเครื่องสำอางให้สะอาดก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ต่างที่อาจอุดตันรูขุมขน โดยก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ให้ตรวจฉลากให้แน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นสูตรที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการอุดตัน (Non Comedogenic) และก่อนจะทาผลิตภัณฑ์หรือแต่งหน้า ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
- ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizer) หลังจากล้างหน้า โดยให้เลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สูตร Non Comedogenic ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน
- ทาครีมกันแดดทุกวัน โดยอาจจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้แพทย์แนะนำ SPF ที่เหมาะกับการใช้งาน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าระหว่างวัน
- จัดการความเครียด
- หลีกเลี่ยงการบีบสิวด้วยตัวเอง เนื่องจากการบีบสิวอาจส่งผลให้อาการสิวแย่ลงและทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้
สำหรับการรักษาสิวที่เป็นไต ผู้ที่เกิดสิวควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการและแนะนำวิธีการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากสิวชนิดนี้หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ อาจส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นตามมาได้ โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ เช่น การรับประทานยา การทายา การฉีดยา หรือบางคนอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย