สีของปัสสาวะ ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนควรหมั่นสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากสีปัสสาวะที่ผิดแปลกไปอาจเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกายได้ ซึ่งอาจจะเป็นได้ตั้งแต่กรณีไม่รุนแรงอย่างการดื่มน้ำมากเกินไป ไปจนถึงกรณีรุนแรงอย่างการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
โดยปกติแล้ว ปัสสาวะจะมีสีโทนเหลือง โดยเป็นผลมาจากเม็ดสีที่มีชื่อว่า ยูโรโครม (Urochrome) ที่ถูกผลิตขึ้นในร่างกาย ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกเจือจางได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำ สีของปัสสาวะจึงอาจมีความเข้มที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น ในช่วงที่ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะก็อาจจะมีสีเหลืองจาง ๆ และเมื่อดื่มน้ำน้อย สีของปัสสาวะก็จะมีความเข้มขึ้น
แต่ปัจจัยบางอย่าง เช่น สารสีในอาหาร การรับประทานยาบางชนิด หรือปัญหาทางสุขภาพ อาจส่งผลให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนไปได้ ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ถือเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นปัญหาที่ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์
สีของปัสสาวะแต่ละสีเกิดจากอะไร และเมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า สีของปัสสาวะโดยปกติมักเป็นสีโทนเหลืองซึ่งเกิดจากเม็ดสียูโรโครม แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างก็อาจส่งผลให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนไปได้ โดยสีของปัสสาวะในลักษณะอื่นที่อาจพบได้ เช่น
ปัสสาวะสีใส
หลายคนอาจเข้าใจว่า ปัสสาวะสีนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายได้รับน้ำที่เพียงพอ แต่จริง ๆ แล้ว ปัสสาวะสีใสมากผิดปกติ อาจเป็นสีที่กำลังบ่งบอกว่าร่างกายเริ่มได้รับน้ำมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) หรือกลุ่มแร่ธาตุสำคัญในร่างกายลดต่ำลงได้ แต่โดยปกติแล้วภาวะนี้มักกลับสู่ปกติได้ หากลดปริมาณการดื่มน้ำให้พอดี
อย่างไรก็ตาม หากปัสสาวะมีสีใสเองโดยไม่ได้ดื่มน้ำมาก หรือปัสสาวะยังคงใสอยู่หลังจากลดปริมาณการดื่มน้ำลงแล้ว ปัสสาวะสีใสก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาอื่นในร่างกายที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ได้เช่นกัน เช่น ไตผิดปกติ เบาหวาน
ปัสสาวะสีน้ำตาลหรือเหลืองเข้ม
ปัสสาวะสีน้ำตาลหรือเหลืองเข้มมักเป็นผลมาจากการขาดน้ำ ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่ก็อาจมีบางกรณีเช่นกันที่สีน้ำตาลของปัสสาวะเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น เช่น สีในอาหาร การออกกำลังกายอย่างหนัก การใช้ยาระบาย การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาต้านมาลาเรีย ไปจนถึงโรคบางชนิด อย่างโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) โรคตับ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ดังนั้น ผู้ที่มีปัสสาวะสีน้ำตาลหรือเหลืองเข้มที่สีของปัสสาวะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากดื่มน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งพบว่าปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลหลังออกกำลังกาย หรือปัสสาวะไม่ใสขึ้นหลังผ่านไป 24–48 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากร่างกายอาจกำลังมีภาวะผิดปกติบางอย่าง
ปัสสาวะสีส้ม
ปัสสาวะสีส้มเป็นสีที่สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสีในอาหาร การได้รับเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) หรือวิตามินซีในปริมาณสูงมาก ยาต้านการอักเสบบางชนิด ยาระบายบางชนิด ยาเคมีบำบัดบางชนิด หรือภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
นอกจากนี้ในบางกรณี ปัสสาวะสีส้มยังอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น โรคตับ ท่อน้ำดีมีปัญหา โดยในกรณีนี้ผู้ที่มีปัสสาวะสีส้มยังมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือผิวและดวงตาเป็นสีเหลือง
ดังนั้น ผู้ที่พบว่าปัสสาวะมีสีส้ม โดยเฉพาะผู้ที่พบว่าอุจจาระมีสีซีด หรือผิวและดวงตาเป็นสีเหลือง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
สีออกชมพูหรือแดง
ในบางครั้งสาเหตุของปัสสาวะที่มีสีออกชมพูหรือแดง อาจเป็นเพียงการรับประทานอาหารหรือผลไม้บางชนิด เช่น บีทรูท หรือบลูเบอร์รี
อย่างไรก็ตาม สีชมพูหรือสีแดงในปัสสาวะยังอาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นที่มีความรุนแรงได้ เช่น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบายที่มีส่วนผสมของมะขามแขก หรือยาปฏิชีวนะ
- เลือด ในกรณีนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การวิ่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะหรือไต
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ผู้ที่มีสีปัสสาวะในกลุ่มนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรง
สีออกฟ้าหรือเขียว
สีของปัสสาวะในกลุ่มนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการรับประทานอาหารบางชนิดที่มีสีผสมอาหาร การได้รับสารสีบางชนิดที่แพทย์จำเป็นต้องใช้เพื่อตรวจตรวจไตหรือกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยบางคน หรืออาจเป็นผลข้างเคียงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) หรือยาโปรโพฟอล (Propofol)
นอกจากนี้ ในบางกรณีสีของปัสสาวะในกลุ่มนี้ก็อาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติได้ด้วย เช่น การติดเชื้อบางชนิดในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูงที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ที่มีสีปัสสาวะในกลุ่มนี้อย่างเรื้อรังควรไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
ปัสสาวะสีขุ่น
ปัสสาวะสีขุ่นถือเป็นอีกกลุ่มที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งภาวะขาดน้ำ นิ่วในไต หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยในเบื้องต้น ให้ผู้ที่มีปัสสาวะสีขุ่นพยายามดื่มน้ำให้มากขึ้นและคอยสังเกตอาการ หากเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ที่มีปัสสาวะสีขุ่นกำลังตั้งครรภ์อยู่ และมีอาการปัสสาวะเป็นฟองร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการอาจกำลังบ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที
สุดท้ายนี้ ทุกคนคงพอเห็นแล้วว่า สีของปัสสาวะที่ผิดปกติไปส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการขาดน้ำ การดื่มน้ำให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยปริมาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 1.5–2 ลิตร หรือประมาณ 8 แก้ว/วัน และอาจต้องการมากขึ้นหากร่างกายสูญเสียน้ำ และหากพบว่าสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยภาวะรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น