สเตียรอยด์ เป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่

สเตียรอยด์ (Steroids) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นเองได้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ในปัจจุบัน วงการแพทย์ได้นำสเตียรอยด์มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย หรือแม้แต่ใช้ในวงการเสริมความงาม

สเตียรอยด์

สเตียรอยด์แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • ยาอะนาบอลิก-แอนโดรจีนิกสเตียรอยด์(Anabolic Androgenic Steroid: AAS)

โดยปกติแล้วฮอร์โมนสเตียรอยด์จะถูกผลิตออกมาเองตามธรรมชาติจากต่อมหมวกไตซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่เหนือไตทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญ ๆ ในร่างกายอีกหลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน เป็นต้น

ทั้งนี้ สเตียรอยด์ยังถูกมาผลิตเป็นยารักษาโรค และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยจะถูกผลิตออกมาในหลายรูปแบบ แต่แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  • สเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอก เป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาเฉพาะอาการภายนอก โดยยาประเภทนี้อาจอยู่ในรูปของยาทา ยาหยอดตา ยาพ่นจมูก และยาพ่นหลอดลม ทั้งนี้ การออกฤทธิ์ของยาประเภทนี้จะออกฤทธิ์เฉพาะจุด จึงทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดลง แต่ต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย
  • สเตียรอยด์ประเภทยารับประทานและยาฉีด ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยบางอย่างที่การใช้ยาเฉพาะภายนอกไม่สามารถรักษาได้ เช่น อาการแพ้มาก โรคหอบหืดชนิดรุนแรง หรือผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจต้องใช้สเตียรอยด์ชนิดฉีด หรือรับประทาน เพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยสเตียรอยด์ประเภทนี้แพทย์จะให้ใช้ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นเมื่ออาการดีขึ้นแล้วจะสั่งหยุดใช้ เพราะหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ป่วย

สเตียรอยด์ทำหน้าที่อย่างไร ?

โดยปกติแล้วสเตียรอยด์ที่ผลิตขึ้นเองภายในร่างกายตามธรรมชาติจะมีหน้าที่สำคัญคือช่วยให้อวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับสเตียรอยด์ชนิดสังเคราะห์เข้าไปในร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ยาสเตียรอยด์ก็จะออกฤทธิ์ช่วยลดอาการบวมแดง และลดการอักเสบ และช่วยลดอาการอักเสบที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง และโรคหอบหืดได้อีกด้วย

นอกจากนี้ สารสเตียรอยด์ยังมีฤทธิ์ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วยผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าวและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอาการทุเลาลง

ประโยชน์ของสเตียรอยด์

สเตียรอยด์เป็นยาที่มีคุณสมบัติเพื่อรักษาการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้สเตียรอยด์ในประมาณเหมาะสมจะสามารถช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น อาการปวดในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือการอักเสบของผิวหนัง

ในการรักษาทางการแพทย์ สเตียรอยด์ถูกนำมาใช้รักษาอาการของโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหอบหืด โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) รักษาปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่น และในบางกรณีสารดังกล่าวยังถูกใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิดควบคู่ไปกับการรักษาหลักด้วย

ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยเกิดการอักเสบรุนแรงจนส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ยาสเตียรอยด์ถือเป็นตัวยาสำคัญที่แพทย์ใช้เพื่อช่วยรักษาการอักเสบ และในหลาย ๆ กรณีก็ยังช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกด้วย

ทว่าในปัจจุบันมีการนำสารสเตียรอยด์ไปใช้อย่างผิดวิธี มักพบบ่อยคือการนำไปใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเสริมสมรรถภาพให้นักกีฬา ซึ่งถือว่าผิดกฎในวงการกีฬา อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

ผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์

แม้สเตียรอยด์จะเป็นยาที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาค่อนข้างดี แต่ก็เป็นยาที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรง จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ต่อร่างกายผู้ใช้ได้ อาทิ

  • อาจทำให้กระดูกเปราะบางลง
  • เป็นต้อกระจก
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวน
  • มีปัญหาในการนอนหลับ

นอกจากนี้ ยาสเตียรอยด์แต่ละชนิดก็ยังมีผลข้างเคียงที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ดังนี้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) การใช้ยานี้นานหรือใช้ในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่

  • อาหารไม่ย่อย หรือมีอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากอาหารไม่ย่อย
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักขึ้น
  • นอนไม่หลับ 
  • มีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
  • มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสมากขึ้น เช่น โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด หรือโรคหัด
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง  หรือเกิดโรคเบาหวาน
  • โรคกระดูกพรุน
  • ความดันโลหิตสูง
  • เกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing's Syndrome) ที่อาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำที่ผิวได้ง่าย มีรอยแตกที่ต้นขา หรือมีไขมันสะสมอยู่บริเวณใบหน้ามากเกินไป เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวการมองเห็น เช่น ต้อหิน และต้อกระจก เป็นต้น
  • เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอะนาบอลิก-แอนโดรจีนิกสเตียรอยด์(Anabolic Androgenic Steroid: AAS) สเตียรอยด์ชนิดนี้มักนิยมใช้เมื่อต้องการสร้างกล้ามเนื้อให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งยาชนิดนี้อาจส่งผลอันตราย และส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

ผลข้างเคียงต่อผู้ชาย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ปริมาณอสุจิลดลง เป็นหมัน หรือมีบุตรยาก อัณฑะเล็กลง และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ศีรษะล้าน
  • เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ
  • มีอาการปวดท้อง

ผลข้างเคียงต่อผู้หญิง

  • ขนตามใบหน้าและร่างกายขึ้นดกผิดปกติ
  • หน้าอกเล็กลง
  • เกิดอาการบวมที่คลิตอริส (Clitoris)
  • เสียงต่ำ หรือทุ้มกว่าปกติ
  • ความต้องการทางเพศสูงขึ้น
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผมร่วง
  • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ

ทั้งนี้ การใช้สเตียรอยด์ชนิดดังกล่าวอาจนำมาสู่โรคร้ายแรงได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เกิดเนื้องอกที่ตับหรือไต โรคความดันโลหิตสูง เกิดลิ่มเลือด มีอาการบวมน้ำ และระดับคอเลสเตอรอลสูง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีอาการประสาทหลอน หรืออาการหลงผิด

การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดนี้ที่มักเป็นยาฉีดเสียส่วนใหญ่ หากได้รับการฉีดอย่างไม่ถูกต้องและมีการใช้เข็มฉีดยาต่อกัน ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้ออันตราย เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และซี เชื้อไวรัสเอชไอวี อีกทั้งยังอาจทำให้หลอดเลือดดำเสียหายจนทำให้เกิดแผล และเกิดเนื้อตายในที่สุด

ขณะเดียวกันยาสเตียรอยด์ยังส่งผลต่อการเสริมสร้างของกระดูก ซึ่งหากใช้ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตก็ก็อาจทำให้กระดูกหยุดเจริญเติบโตก่อนวัยได้ เนื่องจากยาชนิดนี้จะเข้าไปเร่งอายุและการเจริญเติบโตของกระดูกเกินวัย และในที่สุดจะหยุดการเสริมสร้างก่อนเวลาอันควร

ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลข้างเคียงนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่ใช้ยา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยควรใช้ยาสเตียรอยด์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันผลเสียระยะยาวที่อาจตามมา

ผลข้างเคียงบางอย่างอาจเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงการรักษาด้วยยาดังกล่าว และอาการจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อหยุดใช้ยาสเตียรอยด์ แต่กระนั้นเองผู้ป่วยก็ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขาดยาได้

ใครไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์

เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ สเตียรอยด์เป็นยาที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน โดยกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้
  • ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะหัวใจวาย
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
  • ผู้ป่วยโรคต้อหิน

ซึ่งหากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพข้างต้น ก่อนได้รับยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ผู้รักษา เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนรักษาที่ปลอดภัยที่สุดให้แก่ผู้ป่วยต่อไป