สเต็มเซลล์ (Stem Cells) หรือเซลล์ต้นกำเนิด เป็นเซลล์ภายในร่างกายที่สามารถแบ่งตัวและแปรสภาพเป็นเซลล์อื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยทดแทนและซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดกับเซลล์ในร่างกาย ในปัจจุบันสเต็มเซลล์บำบัดถูกนำมาใช้รักษาโรคเลือดและโรคมะเร็งได้บางชนิด
สเต็มเซลล์มีหลายชนิดและแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือเซลล์ต้นกำเนิดฮีมาโทโพอิทิก (Hematopoietic Stem Cells: HSCs) ที่สามารถแบ่งเซลล์ออกมาเป็นเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ โดยอาจช่วยรักษาโรคเลือดชนิดต่าง ๆ ขณะที่เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ (Mesenchymal Stem Cells: MSCs) อาจช่วยทดแทนเซลล์กระดูกหรือเซลล์ไขมันได้ เป็นต้น สเต็มเซลล์จึงอาจช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการขาดเซลล์เหล่านี้ ซึ่งการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นต้องดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทาง จึงควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ
การรักษาด้วยสเต็มเซลล์
ปัจจุบันในประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรค ซึ่งจัดเป็นการรักษาโดยใช้ยาชีววัตถุ โดยโรคที่รักษาจัดอยู่ในกลุ่มโรคเลือด ดังนี้
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)
- โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma)
ทั้งนี้ ทั่วโลกก็ยังคงมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสรรพคุณของเซลล์ชนิดนี้ในการรักษาโรคและการเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ไปจนถึงโรคประสาท โดยการศึกษาเหล่านี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยในการใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในอนาคต
สเต็มเซลล์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักด้วยกัน คือ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cells) และสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย (Adult Stem Cells) ซึ่งความแตกต่างของทั้ง 2 ชนิดนี้ คือ การแบ่งตัวและการแปรสภาพ เพื่อทดแทนเซลล์ภายในร่างกายที่ขาดหายไป โดยเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนอาจนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อทดแทนเซลล์ได้หลากหลายกว่าเซลล์จากเนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย ส่วนเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อที่โตเต็มวัยอาจนำมาทดแทนเซลล์ได้เพียงเฉพาะส่วน สำหรับเซลล์ต้นกำเนิดที่ถูกนำมาใช้นั้น โดยปกติแล้วพบอยู่ในอวัยวะหลาย ๆ ส่วน เช่น รกและเลือดสายสะดือของทารกแรกเกิด ไขกระดูก เนื้อเยื่อไขมัน เลือด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังมีข้อจำกัดที่จำเป็นและสำคัญอย่างมาก คือ การเข้ากันได้ของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic Stem Cells) จากผู้บริจาคกับร่างกายของผู้ป่วย หากทำการรักษาโดยที่เซลล์ของทั้งสองฝ่ายเข้ากันไม่ได้อาจทำให้ร่างกายผู้รับเกิดการต่อต้านเซลล์ใหม่จนทำให้เกิดอันตราย จึงทำให้การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดนั้นต้องใช้เวลาในการรอเซลล์จากคนอื่นที่อาจเข้ากันได้ค่อนข้างนาน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าคนที่มีสายเลือดเดียวกันหรือเป็นเครือญาติกันอาจมีเซลล์ที่มีโอกาสเข้ากันได้มากกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งหากเข้ากันได้ก็อาจช่วยให้การรักษาไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนในกรณีปกติ
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าสเต็มเซลล์บางชนิด อย่างเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ (Mesenchymal Stem Cells) ที่มีแนวโน้มว่าสามารถเข้ากับร่างกายของผู้ป่วยได้สูงกว่าสเต็มเซลล์ชนิดอื่น เนื่องจากคุณสมบัติของเซลล์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการรักษา ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาควรปรึกษาแพทย์และรอผลการศึกษาในแง่มุมอื่นเพิ่มเติม ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและช่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงได้
ธนาคารสเต็มเซลล์คืออะไร ควรเลือกแบบไหน ?
ธนาคารสเต็มเซลล์เป็นหน่วยงานที่ให้บริการเก็บสเต็มเซลล์จากรก เลือดสายสะดือของเด็กแรกเกิด เลือด ไขกระดูก หรือแหล่งอื่น ๆ ที่พบว่ามีเซลล์ต้นกำเนิดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะนำมาเก็บรักษาด้วยกระบวนการและอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อคงสภาพของเซลล์ไม่ให้เสื่อมลงหรือหมดอายุขัยก่อนถึงการใช้งานจริง เมื่อต้องการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ก็อาจนำเซลล์จากชิ้นส่วนเหล่านี้ไปหาความเข้ากันได้เพื่อทำการรักษาต่อไป แต่เพื่อความสมบูรณ์ของเซลล์และเพื่อที่จะมั่นใจว่าเซลล์เหล่านั้นจะสมบูรณ์เมื่อต้องนำมาใช้ จึงควรเลือกผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ
สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บและฝากสเต็มเซลล์ อย่างคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยากเก็บสเต็มเซลล์จากรกและเลือดสายสะดือไว้สำหรับการใช้ในอนาคตก็สามารถใช้บริการจากธนาคารสเต็มเซลล์ได้ แต่การจะใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่เป็นเซลล์จากมนุษย์ภายในประเทศไทยนั้นมีการกำกับด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงควรเลือกธนาคารสเต็มเซลล์ที่ได้รับการรับรองทั้งในด้านมาตรฐานการผลิตและจัดเก็บ อย่าง GMP ที่เป็นมาตรฐานระดับสากล และได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากในปัจจุบันมีธนาคารสเต็มเซลล์หลายแห่งที่เปิดบริการโดยไม่ได้รับการอนุญาต ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องนำมาใช้ได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในประเทศไทยยังจำกัดอยู่เพียง 5 โรคที่ได้กล่าวไปในข้างต้นเท่านั้น อีกทั้งยังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนี้อาจมีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์อย่างถี่ถ้วน