สเปรย์พ่นคอ คือสเปรย์ที่มีส่วนผสมของยาหรือสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและระคายเคืองคอจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือภูมิแพ้ สเปรย์พ่นคอนั้นหาซื้อไม่ยากและราคาไม่แพงจึงเหมาะสำหรับการบรรเทาอาการเจ็บคอเบื้องต้น การรู้วิธีเลือกสเปรย์พ่นคอให้เหมาะสมกับอาการจะช่วยให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
อาการเจ็บคอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส การแพ้สารบางอย่าง หรือการสูดดมควัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการระคายเคืองไปจนถึงการอักเสบในลำคอ อาการเจ็บคอสามารถส่งผลต่อชีวิตประจำวันของทุกคนได้ ดังนั้นการใช้สเปรย์พ่นคอจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบรรเทาอาการปวดที่ได้ผลดี เพราะสามารถใช้งานได้ง่าย พกพาสะดวก และสามารถพ่นยาลงไปยังจุดที่มีอาการได้โดยตรง
วิธีเลือกสเปรย์พ่นคอให้เหมาะกับอาการ
การเลือกสเปรยพ่นคอควรเริ่มจากดูที่ส่วนผสมก่อน เนื่องจากส่วนผสมแต่ละอย่างมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน โดยมักมีคุณสมบัติหลักคือลดเจ็บคอและอาจมีส่วนผสมที่มีคุณสมบัติช่วยลดอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น
อาการระคายเคืองคอ
หากต้องการสำหรับสเปรย์พ่นคอที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการเจ็บคอและระคายเคืองคอโดยเฉพาะ ควรเลือกใช้เป็นสเปรย์ที่มีส่วนผสมของฟีนอล (Phenol) ไดโคลนีน ไฮโดรคลอไรด์ (Dyclonine Hydrochloride) หรือเบนโซเคน (Benzocaine) กับเมนทอล (Menthol) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ชาเพื่อลดอาการเจ็บคอ รวมถึงระคายเคืองคอลง
นอกจากนี้ สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมของฟีนอล (Phenol) หรือ ไดโคลนีน ไฮโดรคลอไรด์ (Dyclonine Hydrochloride) มักจะมีกลีเซอรีน (Glycerin) ที่สามารถเคลือบคอเพื่อป้องกันการระคายเคืองเพิ่มด้วย
อาการอักเสบ
สำหรับอาการเจ็บคอและอาการอักเสบในลำคอ ควรใช้สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมของเบนไซดามีน (Benzydamine) หรือเฟลอร์บิโพรเฟน (Flurbiprofen) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs หรือ Non–Steroidal Anti–Inflammatory) ที่มีฤทธิ์ลดอาการบวมอักเสบในลำคอและอาการเจ็บคอได้
การติดเชื้อ
สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมหลักเป็นยาโพวิโดนvน (Povidone Iodine) มีสรรพคุณในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส จึงช่วยลดการติดเชื้อภายในลำคอซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บคอได้
นอกจากนี้ สเปรย์พ่นคอบางตัวอาจมีส่วนผสมหลักเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น โพรโพลิส (Propolis) หรือสารสกัดจากรังผึ้ง และคาโมมายล์ (Chamomile) ที่อาจมีสรรพคุณในการสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ทำให้ช่วยลดการติดเชื้อเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังอาจช่วยต้านการอักเสบได้ด้วย
เมื่อเลือกสเปรย์พ่นคอที่เหมาะกับอาการได้แล้ว ควรตรวจสอบว่ามีส่วนผสมที่ผู้ใช้แพ้หรือไม่ และอ่านฉลากก่อนก่อนใช้ โดยสเปรย์พ่นคอบางชนิดอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุของผู้ใช้หรือภาวะสุขภาพ นอกจากนี้ อาจเลือกการเลือกสเปรย์พ่นคอให้เหมาะกับการใช้งานและความชอบของแต่ละคน โดยสเปรย์พ่นคอบางตัวอาจมีการแต่งรสชาติ เช่น รสเลมอน รสมินต์ หรือรสองุ่น รวมถึงอาจมีรูปทรงขวดและกระบอกฉีดที่แตกต่างกันด้วย
วิธีใช้สเปรย์พ่นคอให้ได้ผลและปลอดภัย
การใช้สเปรย์พ่นคอให้ได้ผลและปลอดภัยสามารถทำตามวิธี ดังนี้
- ตรวจสอบจำนวนครั้งที่ควรฉีดจากใบกำกับยาหรือฉลากของสเปรย์พ่อคอก่อนใช้งาน เนื่องจากสเปรย์พ่นคอแต่ละตัวอาจมีจำนวนครั้งที่ควรฉีดแตกต่างกัน จากนั้นหันหัวฉีดไปทางปาก และฉีดเข้าไปในลำคอตรงจุดที่ต้องการ
- สเปรย์พ่นคอบางตัวอาจสามารถฉีดแล้วกลืนได้ แต่บางตัวก็ต้องบ้วนออกในทันที หรือรอ 15–60 วินาทีก่อนจะบ้วนออก ดังนั้นควรอ่านใบกำกับยาหรือฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
- หากเผลอกลืนน้ำยาลงไปนิดหน่อย อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องเล็กน้อย หรืออาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารอื่น ๆ ได้ แต่หากเผลอกลืนไปเป็นจำนวนมากควรงดน้ำกับอาหาร และนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
- หากฉีดสเปรย์พ่นคอแล้วเกิดอาการสำลัก ควรถือขวดสเปรย์ให้ห่างจากปากมากขึ้น แต่หากสาเหตุในการสำลักเกิดจากส่วนผสมหรือรสชาติ อาจเปลี่ยนไปใช้สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมหรือรสชาติอื่น ๆ
- สเปรย์พ่นคอส่วนใหญ่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ประมาณ 2 ชั่วโมง หากอาการกลับมาไว ควรดื่มน้ำเพื่อลดอาการคอแห้งที่อาจส่งผลต่อการเจ็บคอด้วย โดยควรรอสักพักหนึ่งก่อนดื่มน้ำตาม เพื่อป้องกันไม่ให้กลืนน้ำยาลงไปด้วย
- หากมีอาการเจ็บคอก่อนนอน หรือหลังตื่นนอน สามารถใช้สเปรย์พ่นคอได้ จำนวนที่ควรใช้ต่อวันขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ควรใช้มากกว่า 4 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ติดกันเกิน 2 วัน
- ไม่ควรใช้สเปรย์พ่นคอถ้ามีไข้สูง หายใจลำบาก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน สำลักอาหาร และไม่ควรใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บคอ เนื่องจากสเปรย์พ่นคอใช้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้งานสเปรย์พ่นคอ
สเปรย์พ่นคอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับอาการเจ็บคอจากสาเหตุต่าง ๆ แต่ก็ไม่ควรใช้เพื่อเป็นยารักษาและควรใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอเบื้องต้นเท่านั้น หากใช้สเปรย์พ่นคอแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยยังเจ็บคอต่อเนื่องเกิน 7 วัน และมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง มีผื่น หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม