ส่วนประกอบสมอง และหน้าที่สำคัญที่ควรรู้

ส่วนประกอบสมองที่สำคัญแบ่งออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ สมองส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง รวมถึงส่วนประกอบย่อยอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละส่วนมีหน้าที่และความสำคัญที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเคลื่อนไหว การหายใจ ระบบเลือด ความจำ และการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

สมองเป็นอวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) และเชื่อมต่อกับไขสันหลัง สมองเป็นอวัยวะมีความซับซ้อนที่สุดในร่างกาย เนื่องจากมีบทบาทควบคุมการทำงานของหลายระบบในร่างกาย การทำความเข้าใจส่วนประกอบสมองจะช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของสมองแต่ละส่วนมากขึ้น

Brain Components

รู้จักส่วนประกอบสมอง

สมองประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท และเซลล์ประสาทมากมาย สมองของผู้ใหญ่มีน้ำหนักราว ๆ 1.3–1.4 กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยไขมันกว่า 60% และอีก 40% คือส่วนประกอบอื่นรวมกัน เช่น น้ำ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเกลือ โดยส่วนประกอบสมองที่สำคัญ มีดังนี้

1. ซีรีบรัม (Cerebrum)

ซีรีบรัมคือส่วนประกอบสมองที่ใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณด้านหน้าของสมอง ส่วนนอกสุดของซีรีบรัมเรียกว่า เปลือกสมอง (Cerebral Cortex) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือซีกซ้ายและซีกขวา สมองซีกซ้ายจะควบคุม ร่างกายซีกขวา ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมร่างกายซีกซ้าย 

เปลือกสมองทั้ง 2 ซีกสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลีบ (Lobe) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

  • กลีบด้านหน้า (Frontal Lobe) ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การตัดสินใจ ความจำ การเรียนรู้ด้านภาษา พฤติกรรมและบุคลิกภาพ
  • กลีบขมับ (Temporal Lobe) มีบทบาทเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ ภาษา และการได้ยิน 
  • กลีบด้านข้างกระหม่อม (Parietal Lobe) เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้ เช่น อุณหภูมิ ความรู้สึกเจ็บปวด การสั่นสะเทือน และการรับรู้เกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • กลีบด้านท้ายทอย (Occipital Lobe) ทำหน้าที่รับรู้ภาพ สี รูปทรง ตำแหน่ง และการเคลื่อนไหวของคนหรือสิ่งของต่าง ๆ

2. ก้านสมอง (Brainstem)

ก้านสมองเป็นส่วนประกอบสมองที่อยู่บริเวณกลางสมองและเชื่อมต่อกับไขสันหลัง แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  • สมองส่วนกลาง (Midbrain) ทำหน้าที่สำคัญหลายด้าน เช่น การเคลื่อนไหว การได้ยิน และการตอบสนองต่อสถานการณ์อันตรายหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
  • เมดัลลา (Medulla) ตั้งอยู่บริเวณส่วนท้ายของสมอง และเชื่อมต่อกับไขสันหลัง ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต
  • พอนส์ (Pons) ควบคุมการกะพริบตา การหลั่งน้ำตา การมองเห็น การแสดงออกทางสีหน้า และการทรงตัว

3. ซีรีเบลลัม (Cerebellum)

เซรีเบลลัมเป็นส่วนประกอบสมองที่มีขนาดประมาณเท่ากำปั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศีรษะ ใต้กลีบขมับและกลีบด้านท้ายทอย และอยู่เหนือก้านสมอง

ซีรีเบลลัมแบ่งออกเป็น 2 ซีก (Hemisphere) โดยส่วนนอกของซีรีเบลลัมประกอบด้วยเซลล์สมอง (Neuron) มากมาย ส่วนด้านในจะเป็นส่วนที่ส่งกระแสประสาทสื่อสารกับเปลือกสมอง ซีรีเบลลัมช่วยในการทรงตัว ท่าทาง และการเคลื่อนไหว

4. ระบบลิมบิก (Limbic System)

ส่วนประกอบสมองที่อยู่ลึกลงไป เรียกว่าระบบลิมบิก ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก คือ

ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland)
ต่อมใต้สมองมีหน้าที่ในการผลิตและควบคุมการไหลเวียนของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังรับสัญญาณทางเคมีจากไฮโปธาลามัส

ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)
ไฮโปธาลามัสเป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไปของสมองส่วนหน้า อยู่ใกล้ต่อมใต้สมองและเชื่อมต่อกับสมองส่วนอื่น ๆ หลายส่วน ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ความหิวและกระหาย อารมณ์ จังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythms) ที่เกี่ยวข้องกับวงจรการตื่นและการนอนหลับและควบคุมการทำงานของต่อมใต้สมองอีกด้วย

ธาลามัส (Thalamus)
ธาลามัสเป็นส่วนประกอบสมองที่อยู่เหนือก้านสมอง ทำหน้าที่เป็นแผงควบคุมของระบบประสาทส่วนกลาง โดยการรับและส่งข้อมูลจากประสาทสัมผัส เช่น การมองเห็น การได้ยิน และการสัมผัส ไปยังเปลือกสมอง

ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)
ฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนประกอบสมองที่อยู่บริเวณกลีบขมับ มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้ ความจำ การระลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ทิศทาง โดยรับข้อมูลจากเปลือกสมอง และหากเกิดการเสื่อมถอยของเซลล์สมองส่วนนี้ อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

อะมิกดาลา (Amygdala)
อะมิกดาลามีลักษณะเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ อยู่บริเวณใต้กลีบสมองแต่ละกลีบ ควบคุมเรื่องความทรงจำ อารมณ์ และการตอบสนองต่อสถานการณ์ เช่น การต่อสู้หรือถอยหนี (Fight-or-flight) โดยจะประมวลผลจากสิ่งเร้าภายนอก แล้วถ่ายทอดข้อมูลไปยังฮิปโปแคมปัส เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อภัยคุกคามภายนอก

5. องค์ประกอบอื่น ๆ

นอกจากส่วนประกอบสมองทั้ง 4 ส่วนข้างต้นแล้ว สมองยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีก เช่น

  • เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) เป็นเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องสมองและไขสันหลัง และรองรับเส้นเลือด เส้นประสาท น้ำเหลือง และน้ำไขสันหลังที่อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง
  • น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid: CSF) คือของเหลวไม่มีสี ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง รับแรงกดทับ และกำจัดของเสียจากเซลล์สมอง
  • เส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) มีทั้งหมด 12 คู่ ทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณระหว่างสมองกับอวัยวะต่าง ๆ เพื่อช่วยในการรับรู้และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การขยับกล้ามเนื้อ ลูกตา ใบหน้า และลิ้น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบสมองมีความซับซ้อนอย่างมาก แต่ละส่วนแบ่งออกเป็นส่วนประกอบย่อยอีกมากมาย หากเกิดความเสื่อม การบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือความผิดปกติใด ๆ ต่อสมอง จะส่งผลให้สมองได้รับความเสียหาย และอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบอื่น ๆ ในร่างกายตามมา

การดูแลสมองจึงเป็นวิธีช่วยชะลอความเสื่อมของสมองก่อนวัย และช่วยป้องกันโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมองบ่อย ๆ หากสังเกตว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสมอง ความจำ การทรงตัว และประสาทสัมผัส ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป