ส้มแขก ผลไม้เพื่อการลดน้ำหนักและไขมัน

ส้มแขกเป็นผลไม้ขนาดเล็กที่มีรสเปรี้ยว มักนิยมนำมาเพิ่มรสชาติให้กับอาหารจากทางภาคใต้ เช่น แกงส้ม ต้นยำ ปลาต้มเค็ม เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว นักวิจัยยังเชื่อกันอีกว่าส้มแขกอาจนำมาใช้ในการลดน้ำหนักและลดระดับไขมันได้ แต่ผลไม้ชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวจริงหรือไม่นั้น ศึกษาได้จากบทความนี้

สารสกัดจากเปลือกส้มแขกที่สำคัญ คือ กรดไฮดรอกซีซิตริก (Hydroxycitric Acid: HCA) ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันและลดความอยากอาหาร โดยจะไปยับยั้งเอนไซม์บางชนิดที่ร่างกายนำมาใช้ในการสร้างไขมัน อีกทั้งยังไปเพิ่มระดับของสารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนินซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกหิวน้อยลงได้

ส้มแขก

คุณประโยชน์ของส้มแขก

การบริโภคส้มแขกอาจส่งผลดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือมีเป้าหมายในการลดน้ำหนักและลดระดับไขมันในร่างกาย โดยมีการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนที่พิสูจน์สรรพคุณของส้มแขกในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักเกิดจากร่างกายสูญเสียไขมันซึ่งเป็นผลมาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร อาการเจ็บป่วย เป็นต้น แต่ในกรณีที่น้ำหนักลดลงมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนและสารสำคัญอื่น ๆ ไปด้วย

เชื่อกันว่าส้มแขกมีคุณสมบัติในการลดน้ำหนัก จึงมีการศึกษาค้นคว้าโดยหนูทดลองกินสารสกัดจากส้มแขกในปริมาณ 400 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 10 สัปดาห์ แล้วพบว่า หนูมีน้ำหนักตัวและภาวะการอักเสบลดลง อีกทั้งยังมีความทนต่อน้ำตาลกลูโคสที่ดีขึ้นด้วย และยังมีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ชี้ให้เห็นอีกว่า กรดไฮดรอกซีซิตริกอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ทั้งยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยยืนยันประสิทธิภาพของส้มแขก จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมกับคนโดยตรงในอนาคต

ลดระดับไขมัน
ไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย มักพบได้ในอาหารทั่วไป เช่น เนย น้ำมัน ถั่ว เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น โดยร่างกายของคนเราจำเป็นต้องได้รับไขมันในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากมีมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงมีการศึกษาทดลองในสัตว์เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ พบว่า สารสกัดจากส้มแขกอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดของหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วนจากอาหารที่มีไขมันสูง และลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้

แม้ข้อมูลข้างต้นแสดงให้ถึงสรรพคุณของส้มแขก  แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษากับคนเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจนก่อนการนำส้มแขกมาใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการรักษา ยิ่งไปกว่านั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดระดับไขมันได้ โดยควรหันมารับประทานผัก ผลไม้ หรือโอเมก้า 3 แทน และหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์โดยเฉพาะอาหารประเภททอด ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและไม่สูบบุหรี่

ทั้งนี้ ส้มแขกยังอาจนำมาใช้เพื่อการรักษาหรือป้องกันภาวะอื่น ๆ เช่น ปวดข้อ พยาธิหรือปรสิต โรคบิด เป็นต้น แต่ยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสิทธิภาพหรือความปลอดภัยของส้มแขกหากต้องการใช้เป็นยารักษานั่นเอง

ความปลอดภัยในการบริโภคส้มแขก

แม้ส้มแขกจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะอยู่เสมอ เนื่องจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากผลไม้ชนิดนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับตับได้ นอกจากนั้น ส้มแขกยังก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น

โดยผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ควรระมัดระวังในการใช้ส้มแขกเป็นยารักษาโรคเป็นพิเศษ

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร การบริโภคส้มแขกอาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกายของผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในปริมาณมากเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
  • โรคไบโพลาร์ ส้มแขกอาจส่งผลให้ภาวะอารมณ์แปรปรวนจากโรคไบโพลาร์ทรุดหนักลง
  • โรคตับ การบริโภคส้มแขกอาจเป็นอันตรายต่อตับ อาจทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้นในผู้ป่วยโรคตับ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากส้มแขกมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ จึงมีปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ก่อนมื้ออาหารเป็นเวลา 30-60 นาที 3 ครั้งต่อวัน อย่างไรก็ตาม ก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด และผู้บริโภคยังควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง หากบริโภคส้มแขกเพื่อหวังผลทางการรักษา