หญ้าหนวดแมว เป็นสมุนไพรพื้นบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หลายคนเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งขับปัสสาวะ รักษานิ่วในไต ช่วยควบคุมน้ำหนัก และรักษาโรคข้ออักเสบ เพราะสารชีวภาพในใบของหญ้าหนวดแมว เช่น กรดโรสมารินิก กรดบิทูลินิก กรดโอลีนโนลิก กรดเออร์โซลิก และสารประกอบฟีนอลิกอื่น ๆ อีกกว่า 20 ชนิด อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านโรค และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในระบบต่าง ๆ
หญ้าหนวดแมวเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่มีลำต้นสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเรียว มีขน ขอบใบเป็นรอยหยักคล้ายฟันเลื่อย มีดอกสีขาวหรือสีม่วงเป็นช่อ ตรงกลางดอกมีเกสรสีขาวยาวโผล่ออกมา
กลีบดอกลักษณะคล้ายหนวดแมว และด้วยสารประกอบทางเคมีต่าง ๆ ของหญ้าหนวดแมว จึงเชื่อว่าสมุนไพรชนิดนี้อาจมีประสิทธิภาพรักษาหรือป้องกันโรคบางอย่างได้ โดยคำกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของหญ้าหนวดแมวนั้นเป็นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับพืชชนืดนี้ไว้ ดังนี้
หญ้าหนวดแมวกับการขับปัสสาวะ
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและผู้ที่มีภาวะบวมน้ำมักต้องใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อระบายโซเดียมและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ นอกจากการรับประทานยาขับปัสสาวะแล้ว เชื่อกันว่าสมุนไพรพื้นบ้านบางชนิดรวมถึงหญ้าหนวดแมวนั้นช่วยขับปัสสาวะได้เช่นกัน โดยมีการศึกษาในหนูทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวมีคุณสมบัติช่วยขับปัสสาวะได้ แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์และยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์
อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลอง จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมกับมนุษย์ในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจนของสมุนไพรชนิดนี้ และแม้บางพื้นที่ใช้หญ้าหนวดแมวเป็นสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อช่วยขับปัสสาวะมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ จึงควรบริโภคยาสมุนไพรต่าง ๆ รวมทั้งหญ้าหนวดแมวด้วยความระมัดระวังภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ
หญ้าหนวดแมวกับการรักษานิ่วในไต
นิ่วในไตเกิดจากแร่ต่าง ๆ อย่างแคลเซียม ออกซาเลท และกรดยูริกสะสมก่อตัวขึ้นบริเวณไตหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบากและเจ็บปวดขณะปัสสาวะ การรักษาทำได้หลายวิธี เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ ในกรณีที่นิ่วมีขนาดเล็ก รับประทานยา หรือผ่าตัดเพื่อนำก้อนนิ่วออกจากร่างกาย ทั้งนี้ มีความเชื่อว่าการรับประทานสมุนไพรอย่างหญ้าหนวดแมวรักษานิ่วในไตได้ โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ค้นคว้าในห้องทดลองพบว่า สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ยับยั้งการก่อตัวของนิ่วแคลเซียมออกซาเลทในปัสสาวะได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพของหญ้าหนวดแมวในการลดนิ่วไตจากกรดยูริก โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่ต้มจากใบของหญ้าหนวดแมวในความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 300 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 เดือน พบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นด่างมากขึ้น ซึ่งอาจลดการเกิดนิ่วจากกรดยูริกได้
แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของการรักษานิ่วในไตด้วยหญ้าหนวดแมว แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพที่ชัดเจนในด้านนี้มากยิ่งขึ้นก่อนนำหญ้าหนวดแมวไปใช้รักษาต่อไป
หญ้าหนวดแมวกับการลดไขมันและควบคุมน้ำหนัก
โรคอ้วน รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา แต่โดยทั่วไปการมีน้ำหนักในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพทำได้โดยการควบคุมน้ำหนัก เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม หรือรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหญ้าหนวดแมวเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่ามีสารอาหารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมน้ำหนัก
โดยการศึกษาคุณสมบัติการลดความอ้วนและลดระดับไขมันในเลือดของสารสกัดจากใบหญ้าหนวดแมวในหนูทดลอง พบว่าหญ้าหนวดแมวสามารถลดอัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังช่วยลดไขมันในเลือด โดยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีลงด้วยเช่นกัน แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีแต่อย่างใด
แม้การศึกษาดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า หญ้าหนวดแมวอาจช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ป้องกันการมีน้ำหนักตัวเพิ่ม และลดระดับไขมันในเลือดของหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วนจากอาหารที่มีไขมันสูงได้ แต่ยังคงเป็นเพียงการศึกษากับสัตว์ทดลอง จึงจำเป็นต้องศึกษากับมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจนก่อนนำไปใช้จริง ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ ควบคุมการรับประทานอาหาร และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานยาหรืออาหารเสริมชนิดใด ๆ เพื่อช่วยลดน้ำหนัก
หญ้าหนวดแมวกับการรักษาโรคข้ออักเสบ
โรคข้ออักเสบเป็นการอักเสบบริเวณข้อต่อกระดูกที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกตึงบริเวณข้อ ปกติแล้วเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาการต่าง ๆ จะยิ่งแย่ลง แต่โรคข้ออักเสบมักรักษาได้ด้วยการใช้ยา เช่น NSAIDs ยาแก้ปวด หรือยาสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและปรับปรุงการทำงานของข้อ แต่นอกจากการใช้ยาดังกล่าวแล้ว บางคนเชื่อว่าสมุนไพรพื้นบ้านอย่างหญ้าหนวดแมวอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคข้ออักเสบได้ด้วย
สารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของหญ้าหนวดแมวอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคข้ออักเสบ จากการศึกษาประสิทธิภาพการรักษาโรคข้ออักเสบของสารสกัดเอทานอล 50 เปอร์เซ็นต์จากหญ้าหนวดแมวพบว่า หญ้าหนวดแมวมีผลลดอาการอุ้งเท้าบวมในหนูทดลองที่มีอาการอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง และยังช่วยลดอาการอักเสบในเซลล์ของมนุษย์และหนูที่เป็นโรคข้ออักเสบด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและป้องกันโรคข้ออักเสบ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบชนิดเรื้อรังอื่น ๆ ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษากับสัตว์ทดลองหรือตัวอย่างเซลล์ในห้องทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษากับมนุษย์เพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจนก่อนนำหญ้าหนวดแมวไปใช้เป็นทางเลือกการรักษาโรคข้ออักเสบต่อไป
บริโภคหญ้าหนวดแมวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ?
ในปัจจุบันยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอจะระบุความปลอดภัยของการบริโภคหญ้าหนวดแมว หรือปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ของตนก่อนบริโภคอาหารหรือสมุนไพรใด ๆ รวมทั้งหญ้าหนวดแมวด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคบางรายอาจมีอาการแพ้ได้ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากหญ้าหนวดแมวเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง
ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรบริโภคหญ้าหนวดแมวอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หลีกเลี่ยงการบริโภคหญ้าหนวดแมว เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคหญ้าหนวดแมวในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมบุตรไม่เพียงพอ
- ผู้ป่วยภาวะบวมน้ำ ห้ามใช้หญ้าหนวดแมวในการรักษาภาวะบวมน้ำที่เป็นผลมาจากปัญหาของหัวใจหรือไต
- ผู้ที่กำลังใช้ยาลิเทียม ซึ่งเป็นยาต้านเศร้าหรือยารักษาโรคจิต โดยหญ้าหนวดแมวอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการขับยาลิเทียมออกจากร่างกายลดลง หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคหญ้าหนวดแมวในระหว่างที่ใช้ยาลิเทียมเสมอ