หน้าฝนกับโรคภัยที่ควรระวัง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฝนอาจมาพร้อมกับโรคภัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจหรือโรคทางระบบทางเดินอาหาร รวมถึงลูกน้ำ ยุงลาย และปัญหาน้ำท่วม ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในอนาคต หากไม่ระมัดระวังและใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองเสียแต่เนิ่น ๆ 

เนื่องด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตกหนัก อุณหภูมิที่ต่ำลง และความชื้นที่สูงขึ้น อาจทำให้โรคต่าง ๆ แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าปกติ หลายคนจึงอาจเจ็บป่วยได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ แล้วในหน้าฝนจะมีโรคใดบ้างที่ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ บทความนี้มีคำตอบ

ฝน

โรคที่พบได้บ่อยในหน้าฝน

เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีในช่วงฤดูฝน สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังคือโรคต่าง ๆ โดยโรคที่พบบ่อย มีดังนี้

ไข้หวัดใหญ่ 

เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ อย่างเฉียบพลัน เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอ และเจ็บคอ โดยปกติแล้วอาการไข้หวัดใหญ่จะหายไปได้เอง แต่บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น 

ไข้หวัด

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นอย่างจมูกและคอหอย มักปรากฏอาการหลังได้รับเชื้อไปแล้ว 1-3 วัน เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม มีเสมหะ มีไข้อ่อน ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

ทอนซิลอักเสบ

ต่อมทอนซิลเป็นต่อม 2 ต่อมที่อยู่บริเวณด้านหลังของลำคอ เมื่อเกิดการติดเชื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ต่อมทอนซิลบวมแดง มีจุดสีขาวหรือสีเหลืองบนต่อมทอนซิล เจ็บคอ กลืนลำบาก มีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น

ท้องเสียเฉียบพลัน

การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างอาหารดิบหรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ การดื่มน้ำที่ยังไม่ได้บำบัด และการมีสุขอนามัยที่ไม่ดีอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียเฉียบพลันได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีไข้ ปวดท้องในลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ หากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปะปนอยู่ในอุจจาระด้วย

ตาแดง

โรคนี้มักมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส โดยเชื้ออาจอยู่ในน้ำสกปรกแล้วกระเด็นเข้าตาหรือใช้ผ้าสกปรกที่มีเชื้อปนเปื้อนมาเช็ดตา ทำให้เกิดการอักเสบและบวมบริเวณเยื่อบุตา ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยอย่างอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณตา เปลือกตาบวม หรือมีขี้ตา โดยโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายเพียงแค่สัมผัสขี้ตาหรือน้ำตาที่เลอะตามใบหน้าหรือร่างกายของผู้ป่วย หรือใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย

ไข้เลือดออก

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ปวดท้องมาก อาเจียนไม่หยุด หายใจลำบาก มีเลือดกําเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มือเท้าเย็น ช็อค เป็นต้น

โรคฉี่หนู

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะหนู สุนัข และสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในดินชื้นแฉะหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเชื้อสามารถสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุจมูก ตา และช่องปาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากติดเชื้อได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ตาแดง ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะออกมาน้อย เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงหน้าฝน เช่น คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้สมองอักเสบ เจอี โรคมาลาเรีย ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นต้น หากพบอาการที่ผิดปกติหรือสงสัยว่าตนเองเข้าข่ายโรคเหล่านี้ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

วิธีป้องกันตนเองจากโรคภัยในฤดูฝน

เคล็ดลับที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคในหน้าฝน ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร และหันมาดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองให้มากขึ้น เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  
  • ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่ตลอด เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค เมื่อร่างกายเปียกน้ำหรือเปียกฝน ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และดื่มน้ำที่สะอาด โดยควรใช้ภาชนะที่สะอาดและปลอดภัยในการปรุงหรือรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • ป้องกันแมลงวันตอมอาหารด้วยการใช้ฝาชีครอบหรือเก็บไว้ในตู้กับข้าวหรือตู้เย็น 
  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากแช่น้ำหรือเดินย่ำน้ำสกปรก และหลังสัมผัสเสมหะหรือน้ำมูก
  • ห้ามใช้มือ แขน หรือผ้าที่สกปรกขยี้ตาหรือเช็ดตา หากมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ควรรีบล้างดวงตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง
  • ควรใส่รองเท้าบูทหากต้องเดินลุยน้ำ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะ สถานที่เลี้ยงสัตว์ และสิ่งปฏิกูลอย่างอุจจาระหรือปัสสาวะของสัตว์
  • ระวังไม่ให้ยุงกัด และทําลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตามภาชนะที่มีน้ำขังทั่วบริเวณบ้านให้หมด โดยนำฝามาปิดภาชนะหรือหมั่นเปลี่ยนน้ำภายในภาชนะบ่อย ๆ
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับผู้ป่วยเองควรสวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าเช็ดหน้าป้องกันการไอหรือจามเมื่อต้องเข้าไปยังพื้นที่ชุมชน
  • ผู้ป่วยตาแดงควรงดไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือไปยังพื้นที่ชุมชน รวมทั้งงดใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับคนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค

อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรสังเกตตัวเองในช่วงฤดูฝนอยู่เสมอ หากเจ็บป่วยหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ผิวหนังเปื่อย มีตุ่มคัน หรือน้ำกัดเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที นอกเหนือจากโรคที่เกิดได้บ่อยในข้างต้น ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้หรือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียก เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าช็อตหรือไฟดูด รวมถึงอุบัติเหตุจากการถูกของมีคมบาดและสัตว์มีพิษอย่างงู ตะขาบ หรือแมงป่องกัดอีกด้วย