หลังถอนฟันควรดูแลตัวเองอย่างไรให้เหมาะสม

การถอนฟันมักเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ทันตแพทย์จะพิจารณาเพื่อใช้ในการรักษาปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก เพราะการถอนฟันอาจส่งผลให้กินอาหารได้ลำบากมากขึ้น แต่ปัญหาในช่องปากหลายกรณีก็จำเป็นที่จะต้องมีการถอนฟัน ซึ่งหากไม่รู้วิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมหลังจากถอนฟันก็อาจทำให้เกิดปัญหาภายในช่องปากอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้

การถอนฟันส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการถอนฟันแท้มักเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขอนามัยในช่องปาก การถอนฟันแท้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นฟันผุถึงชั้นลึก ฟันแตกที่ไม่สามารถรักษาได้ รวมถึงความผิดปกติของฟัน หรืออาการบาดเจ็บในช่องปากอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังการถอนฟันอย่างถูกต้องและเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลังถอนฟันควรดูแลตัวเองอย่างไรให้เหมาะสม

วิธีการดูแลตัวเองหลังจากถอนฟัน

หลังจากการถอนฟันจะรู้สึกเจ็บปวด มีอาการบวม และมีเลือดออกในบริเวณที่ถอนฟันเล็กน้อย โดยปกติแล้วร่างกายจะสามารถสร้างลิ่มเลือดมาปิดบาดแผลและทำให้เลือดหยุดไหลได้เอง แต่ทันตแพทย์จะพับผ้าก๊อซปิดไว้บริเวณที่ถอนฟันและให้คนไข้กัดเอาไว้เพื่อช่วยห้ามเลือด รวมถึงในบางกรณีอาจมีการเย็บเล็กน้อยเพื่อปิดบาดแผลที่ถอนฟันออกไปด้วย 

ระยะเวลาที่อาการถอนฟันจะเริ่มดีขึ้นและคนไข้สามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกตินั้นแตกต่างกันออกไปตามความซับซ้อนของแต่ละกรณี แต่โดยส่วนใหญ่อาการจะเริ่มดีขึ้นภายใน 2–3 วัน ในระหว่างนี้คนไข้สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ด้วยวิธีการดังนี้

  • ประคบเย็นบริเวณแก้มข้างที่ถอนฟันครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อช่วยลดอาการบวม
  • ในบางกรณีทันตแพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะด้วย ควรรับประทานยาให้ครบและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการบ้วนปากและแปรงฟันบริเวณฟันที่ถูกถอนในช่วงแรกหลังจากถอนฟัน หลังจากนั้นบ้วนปากเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือวันละ 2–3 ครั้งเพื่อทำความสะอาดช่องปาก ส่วนการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันสามารถทำได้ตามปกติแต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่ถอนฟัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ลิ้นดุนแผลที่ถอนฟันในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากถอนฟัน เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดบาดแผลเอาไว้หลุดออกและทำให้แผลหายช้าหรือแผลติดเชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังกายหนัก ในช่วง 2–3 วันแรกของการถอนฟัน เพราะการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและอาจทำให้เลือดออกซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะอาจทำให้แผลหายช้า
  • หลีกเลี่ยงการดูดน้ำจากหลอด และการดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัดหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำอัดลม โซดา และกาแฟในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากถอนฟัน เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดบาดแผลเอาไว้สลายตัวและหลุดออกได้
  • รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะแข็งกรอบในช่วง 2–3 วันแรกของการถอนฟัน หลังจากนั้นค่อยเริ่มรับประทานอาหารตามปกติแต่ควรใช้ฟันข้างที่ไม่ได้ถูกถอนในการเคี้ยวอาหารก่อน

อาการหลังจากถอนฟันแบบไหนที่ควรไปพบทันตแพทย์ 

แม้ว่าการถอนฟันส่วนใหญ่จะไม่อันตรายและมีอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากถอนฟัน เช่น แผลหายช้า แผลติดเชื้อ กระดูกเบ้าฟันอักเสบ และเส้นประสาทบาดเจ็บได้ อาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • มีเลือดออกบริเวณที่ถอนฟันนานกว่า 12 ชั่วโมง
  • มีอาการบวมและแดงมากบริเวณที่ถอนฟัน
  • มีอาการปวดรุนแรงที่รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส 
  • มีหนองบริเวณที่ถอนฟัน
  • ไอ เจ็บหน้าอก และหายใจถี่
  • รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน

การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและเหมาะสมหลังจากถอนฟันอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและปัญหาภายในช่องปากอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หากหลังจากถอนฟันมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นและอาการไม่หายไปแม้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างถูกต้องด้วยวิธีการข้างต้นแล้ว ควรไปปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มเติม.