หลุมสิว (Atrophic Scars) คือรอยแผลเป็นจากสิวที่ทำให้ผิวหนังยุบตัวลงต่ำกว่าผิวบริเวณใกล้เคียง เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสร้างคอลลาเจนและเนื้อเยื่อมาซ่อมแซมผิวที่เสียหายจากสิวได้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดเป็นรอบบุ๋มที่ผิวบริเวณดังกล่าว การรักษาหลุมสิวด้วยตัวเองทำได้ยาก จึงควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผิวหนัง
ลักษณะของหลุมสิวและการรักษาของแต่ละคนอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสิว และความรุนแรงของสิวที่เป็น ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากสิวอักเสบ เช่น สิวซีสต์ (Cystic Acne) ที่เป็นสิวนูนแดงขนาดใหญ่ มีความรุนแรงมาก และมักทิ้งรอยสิวที่รักษาได้ยาก รวมถึงพฤติกรรมการบีบ แกะและกดสิวที่ไม่ถูกวิธีที่อาจทำให้ผิวเกิดความเสียหาย และกลายเป็นหลุมสิวตามมา
รู้จักหลุมสิว 3 ประเภท
หลุมสิวแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. หลุมสิวแบบ Rolling Scars
Rolling Scars เป็นหลุมสิวมีเว้าเป็นแอ่งตื้น ๆ และมีปากหลุมสิวกว้างคล้ายก้นกระทะ มักมีขนาดกว้าง 4–5 มิลลิเมตร ทำให้ผิวดูขรุขระ และมีลักษณะเป็นคลื่น หลุมสิวชนิดนี้มีความรุนแรงน้อยสุด และรักษาง่ายกว่าหลุมสิวชนิดอื่น เนื่องจากรอยสิวไม่ลึก และเกิดที่ผิวส่วนบนเท่านั้น
2. หลุมสิวแบบ Boxcar Scars
Boxcar Scars เป็นหลุมสิวรูปวงกลมหรือวงรี มีลักษณะกว้าง ฐานของหลุมสิวมีลักษณะแบน มองเห็นขอบของหลุมสิวชัดเจน หลุมสิวชนิดนี้มักเกิดจากสิวที่กระจายเป็นบริเวณกว้าง และมักเกิดบริเวณแก้มส่วนล่างและกราม
3. หลุมสิวแบบ Ice Pick Scars
Ice Pick Scars เป็นหลุมสิวที่มีขนาดเล็ก ปากแคบ และลึก มีลักษณะคล้ายรอยจิกที่มีปลายแหลมยุบลงไปในผิวหนัง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจน มักเกิดจากสิวตุ่มแดง (Papules) และสิวซีสต์ ซึ่งเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดในผิวหนังชั้นลึก จึงจัดเป็นหลุมสิวที่มีความรุนแรงที่สุด และรักษาได้ยาก เพราะทำลายถึงผิวหนังชั้นลึก
วิธีการรักษาหลุมสิว
หลุมสิวเป็นปัญหาผิวจากสิวที่รักษาได้ยาก ใช้ระยะเวลานานในการรักษา และอาจต้องใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน ในเบื้องต้นการรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง เช่น การใช้เรตินอล อาจช่วยให้หลุมสิวตื้น ๆ ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การรักษากับแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญจะช่วยวิเคราะห์ปัญหา และแนะนำวิธีรักษาหลุมสิวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้หลุมสิวหายได้เร็วขึ้น
การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels)
การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีเป็นวิธีรักษาหลุมสิวโดยใช้น้ำยาเคมีที่มีส่วนผสมของกรดที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid: TCA) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ในการลอกผิวหนังชั้นบนออก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน
ชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้ในการผลัดเซลล์ผิวจะแตกต่างกันตามความรุนแรงของหลุมสิว มีตั้งแต่การผลัดเซลล์ผิวระดับตื้นไปจนถึงระดับลึก (CROSS Technique) ซึ่งช่วยรักษาหลุมสิวแบบ Ice Pick Scars ได้
การขัดผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion)
การขัดผิวด้วยผงผลึกแร่ เป็นการใช้ผงอัญมณี เช่น เพชร และคริสตัลในการขัดกรอผิวหนังชั้นนอกสุดให้หลุดออก ช่วยให้ผิวบริเวณที่มีหลุมสิวเรียบเนียนขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่
การเลเซอร์ผิวหนัง (Laser Therapy)
เลเซอร์เป็นการใช้เครื่องมือยิงแสงเลเซอร์พลังงานสูงที่ผิวหนัง เพื่อลอกผิวหนังชั้นนอกออก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนังชั้นใน การเลเซอร์ผิวหนังสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของหลุมสิวที่เป็น
ไมโครนีดลิ่ง (Microneedling)
ไมโครนีดลิ่งเป็นวิธีรักษาหลุมสิวโดยใช้เครื่องมือที่มีเข็มขนาดเล็กจำนวนมากจิ้มลงบนผิว เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในผิวหนัง ทำให้หลุมสิวตื้นขึ้น และผิวเรียบเนียน
การตัดพังผืดใต้หลุมสิว (Subcision)
การตัดพังผืดเป็นการใช้เข็มสอดเข้าไปใต้ผิวหนัง เพื่อตัดเลาะพังผืดที่รั้งบริเวณใต้หลุมสิวออก ทำให้ผิวที่เคยยุบตัวกลับมาฟูและเต็มขึ้น และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในผิว เหมาะสำหรับผู้ที่มีหลุมสิวแบบ Rolling Scars โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษานี้ร่วมกับวิธีอื่น เช่น การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี และไมโครนีดลิ่ง
การฉีดฟิลเลอร์ (Fillers)
ฟิลเลอร์นิยมใช้สำหรับรักษาหลุมสิวชนิด Rolling Scars โดยแพทย์จะฉีดสารต่าง ๆ เช่น กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) แคลเซียม ไฮดรอกซิลอะพาไทต์ (Calcium Hydroxylapatite) และกรดโพลี แอล แลคติก (PLLA) เพื่อช่วยเติมเต็มผิวที่เป็นหลุมสิวให้ตื้นขึ้น
การผ่าตัดปิดหลุมสิว (Punch Excision and Grafting)
การผ่าตัดปิดหลุมสิวมีหลายวิธี เช่น การตัดผิวหนังบริเวณที่มีหลุมสิวออก หรือยกเนื้อเยื่อบริเวณฐานหลุมสิวขึ้นมาให้เท่ากับผิวปกติ แล้วเย็บปิดแผล หรือตัดผิวหนังจากส่วนอื่นของร่างกายมาปิดบริเวณหลุมสิวที่ผ่าตัดออกไป
การผ่าตัดปิดหลุมสิวมักใช้ในกรณีที่มีหลุมสิวแบบ Ice Pick Scars และ Boxcar Scars ที่เป็นหลุมลึก และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น สีผิวบริเวณที่ผ่าตัดและบริเวณใกล้เคียงไม่สม่ำเสมอกัน หรือเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัดได้
หลังจากการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้น แพทย์อาจนัดหมายให้รับการรักษาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี การเลเซอร์ผิวหนัง เพื่อให้การรักษาหลุมสิวมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแนะนำวิธีการดูแลผิวหลังจากรักษาหลุมสิว เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันสีผิวไม่สม่ำเสมอ
การรักษาหลุมสิวทุกชนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลโดยแพทย์ผิวหนัง เนื่องจากเป็นรอยแผลเป็นจากสิวที่รักษาได้ยาก หากรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้ผิวเกิดความเสียหายมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ก่อนการรักษาหลุมสิวด้วยวิธีใดก็ตาม จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ ขั้นตอนการรักษา และข้อควรระวังก่อนตัดสินใจทำเสมอ