หูอื้อเกิดจากอะไร 10 สาเหตุที่ทำให้หูอื้อ

หูอื้อเกิดจากอะไรเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่งหูอื้อเป็นอาการที่เราได้ยินเสียงเบาลง และรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอุดกั้นอยู่ภายในหู ขณะที่บางคนอาจได้ยินเสียงในหู และมีอาการปวดหูด้วยเช่นกัน หูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความดันอากาศเปลี่ยน มีขี้หู น้ำ หรือสิ่งแปลกปลอมในหู การได้ยินเสียงดังเกินไป รวมทั้งโรคเกี่ยวกับหู การติดเชื้อในทางเดินหายใจ และสาเหตุอื่น ๆ

หูป็นอวัยวะรับเสียง หากช่องหูเกิดการอุดตันหรือเกิดความเสียหายจากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งจากภายในหูและปัจจัยภายนอก อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งนอกจากจะสร้างความรำคาญ อาการหูอื้อรุนแรงอาจทำให้เจ็บปวดหู ได้ยินเสียงในหู หรือสูญเสียการได้ยิน และอาจส่งผลต่อการทรงตัวด้วย

หูอื้อเกิดจากอะไร

หูอื้อเกิดจากอะไรได้บ้าง

หูอื้อเกิดจากอะไรบ้าง มารู้จัก 10 สาเหตุที่พบได้ในชีวิตประจำวันที่ทำให้หูอื้อกัน

1. ความดันอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน

ความดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย มักเกิดขึ้นขณะเดินทางขึ้นที่สูงอย่างกะทันหัน เช่น การเดินทางขณะเครื่องบินขึ้นและลง การปีนเขา และการดำน้ำ 

ภายในหูจะมีท่อที่ช่วยปรับความดันของหู หากเกิดความแตกต่างระหว่างความดันอากาศภายนอกและภายในหู จะทำให้เกิดอาการหูอื้อชั่วคราว ปวดหู ไม่ได้ยินเสียงใด ๆ บางคนอาจมีอาการปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ และหายใจลำบากด้วย

2. ขี้หูอุดตัน

ขี้หูทำหน้าที่ช่วยดักจับฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กไม่ให้เข้าสู่หู โดยปกติแล้ว ขี้หูจะมีลักษณะอ่อนนุ่มและหลุดออกมาได้เอง แต่บางคนอาจมีขี้หูแข็ง มีการผลิตขี้หูมากผิดปกติ หรือชอบแคะหู ซึ่งจะดันขี้หูให้เข้าไปอุดตันอยู่ข้างในมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หูอื้อ ได้ยินเสียงไม่ชัดหรือได้ยินเสียงในหู เจ็บหู และเวียนหัว

3. มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู

สิ่งแปลกปลอมที่เข้าหูอาจทำให้เกิดอาการหูอื้อ เช่น น้ำเข้าหูขณะอาบน้ำหรือว่ายน้ำ หรืออาจเป็นแมลง สิ่งของขนาดเล็ก เช่น ปลายคอตตอนบัดหลุดเข้าไปในหูขณะแคะหู หรือของเล่นชิ้นเล็ก ๆ หลุดเข้าหูเด็ก ซึ่งทำให้หูอื้อ ปวดหู การได้ยินลดลง เด็กอาจร้องไห้งอแง และหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในหูได้

4. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ และโควิด-19 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หูอื้อ เนื่องจากทำให้ท่อยูสเตเชียน (Eustachian) ที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกเกิดอาการบวมและตีบแคบ ทำให้หูอื้อตามมา

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนพบได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งนอกจากหูอื้อ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ และไอ

5. ภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศหรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ และเชื้อรา ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ไอ มีอาการบวมและผื่นคันที่ใบหน้าและตามตัว รวมทั้งอาจมีอาการหูอื้อ เนื่องจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ทำให้ท่อยูสเตเชียนอักเสบและบวม จึงไปปิดกั้นการได้ยินของหู

6. การติดเชื้อในหู

การติดเชื้อในหู ทั้งในหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้เช่นกัน

  • หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis Externa) มักเกิดจากการมีน้ำค้างอยู่ในหูหลังการว่ายน้ำหรืออาบน้ำ ทำให้แบคทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโตได้ดี ทำให้หูอื้อ มีรอยแดงและคันในรูหู มีหนองไหลจากรูหู มีไข้
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้หูอื้อ หูบวมแดง มีหนองไหลจากหู มีไข้ และอาจทำให้เสียการทรงตัว 

7. การสูญเสียการได้ยิน

ในหูของคนเรามีเส้นขนจำนวนมาก ซึ่งทำหน้าที่รับเสียงและแปลงเป็นสัญญาณส่งไปยังสมอง ซึ่งเสียงที่ดังเกินไป เช่น เสียงระเบิด การฟังเพลงเสียงดังในงานคอนเสิร์ต หรือการได้ยินเสียงดังอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเสียงเครื่องจักร  การใส่หูฟังและฟังเพลงเสียงดังเป็นเวลานาน จะทำให้เส้นขนเหล่านั้นได้รับความเสียหาย

อีกกรณีหนึ่งคือการสูญเสียการได้ยินที่พบในผู้สูงอายุ ซึ่งการได้ยินเสื่อมลงตามวัย การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือค่อย ๆ สูญเสียการได้ยินอย่างช้า ๆ โดยเริ่มจากหูอื้อ ปวดหู หูตึง และอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินถาวรได้

8. การได้รับบาดเจ็บที่หัว

การได้รับบาดเจ็บที่หัวหรือต้นคอ เช่น รถชนที่ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างแรง อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนและเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่นำสัญญาณเสียงไปยังสมอง จึงทำให้เกิดอาการหูอื้อ ได้ยินเสียงในหู ปวดหู ปวดหัว และมีเลือดออก

9. ใช้ยา

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs ยาขับปัสสาวะ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเศร้า และยารักษามะเร็งบางชนิด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับการได้ยิน เช่น หูอื้อ และได้ยินเสียงในหู

10. การเกิดก้อนในหูชั้นกลาง (Cholesteatoma)

ก้อนในหูชั้นกลางเป็นภาวะที่เซลล์ผิวหนังตกค้างและเจริญเติบโตบริเวณด้านหลังแก้วหู และอาจเข้าไปในหูชั้นกลางได้ สาเหตุอาจมาจากท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ การมีเซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมในหูมาก หรืออาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด

ในช่วงแรกอาจทำให้รู้สึกเหมือนมีบางอย่างค้างอยู่ในหู หูอื้อ การได้ยินลดลง มีหนองไหลจากหู เมื่อก้อนในหูใหญ่ขึ้น และอาจทำให้เสียการทรงตัวได้ ก้อนในหูชั้นกลางจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น

เมื่อทราบแล้วว่าหูอื้อเกิดจากอะไร โดยทั่วไป หูอื้อมักดีขึ้นได้เองภายในเวลาไม่นาน โดยอาจใช้วิธีแก้ในเบื้องต้น เช่น อ้าปากหาวกว้าง ๆ เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือบีบจมูกและหายใจออก ผู้ที่หูอื้อจากโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ ควรพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และใช้ยาบรรเทาอาการ

อย่างไรก็ดี ผู้ที่หูอื้อจากการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้นิ้วหรืออุปกรณ์ใด ๆ แคะหูเอง เพราะอาจทำให้อาการหูอื้อแย่ลงและเกิดการบาดเจ็บในหูได้ ผู้ที่หูอื้อไม่หายหลังจากดูแลตัวเอง หูอื้อหลังได้รับบาดเจ็บที่หัวหรือคอ หรือมีอาการปวดหูรุนแรง มีหนองหรือเลือดไหลจากหู มีไข้ บ้านหมุน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที