หูแว่ว (Auditory Hallucination) คือ การได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงหรือเสียงที่คนคนหนึ่งได้ยินเพียงคนเดียว หลายคนอาจเคยมีอาการหูแว่ว อย่างการได้ยินคนเรียกชื่อ เสียง คนคุยกัน เสียงดนตรี และเสียงอื่นที่ไม่มีความหมาย ซึ่งลักษณะของเสียงที่ได้ยินอาจมาจากภายนอกหรือดังขึ้นภายในหัวก็ได้
คนสมัยก่อนมักมองว่าการหูแว่วเป็นเรื่องของลางร้าย แต่ในทางสุขภาพนั้น การได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน เช่น โรคสมองและระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคภายในช่องหู การบาดเจ็บ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด เป็นต้น
อาการหูแว่วมีลักษณะอย่างไร?
ในทางการแพทย์ อาการหูแว่วเป็นรูปแบบหนึ่งของอาการหลอน (Hallucination) หรือการรับรู้ถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และอาจเกิดร่วมกับการเห็นภาพหลอน (Visual Hallucination) ซึ่งเสียงที่ไม่มีอยู่จริงเหล่านี้อาจมีลักษณะอื่น ๆ ที่แตกต่างกันในผู้ที่ได้ยินแต่ละคน เช่น เสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงเด็ก เสียงคนรู้จัก เสียงคนพูดภาษาที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยอาจมาในรูปแบบของการกระซิบ ตะโกน เสียงพูดทั่วไป เป็นคำ เป็นประโยค เป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย เป็นบทสนทนากับผู้ที่ได้ยิน หรือพูดคุยกันเอง เสียงจากอาการหูแว่วนี้อาจเป็นได้ทั้งทางบวกและทางลบที่อาจส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ ความคิด และอาจโน้มน้าวให้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้เสียงได้ยินจะเป็นไปในทางบวก แต่หากได้ยินเสียงเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
เสียงหูแว่วมาจากไหน?
เสียงที่ไม่มีจริงเหล่านี้เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แม้คนบางส่วนจะเข้าใจว่าการได้ยินเสียงจะต้องผ่านหูเท่านั้น แต่ความเป็นจริงการที่จะได้ยินเสียง แยกแยะเสียง และตีความหมายของเสียงนั้นจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วน ทั้งหู เส้นประสาท สมอง และระบบประสาท ดังนั้นเมื่อระบบของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเสียหายหรือผิดปกติก็อาจทำให้เกิดอาการหูแว่วได้ ซึ่งสาเหตุก็อาจมาจากโรคและความผิดปกติดังต่อไปนี้
การเจ็บป่วยทางจิตใจ
อาการหูแว่วเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตใจ เช่น โรคจิตชนิดต่าง ๆ ภาวะอารมณ์ผิดปกติ หรืออาการทางจิตใจที่เกิดจากความบอบช้ำหรือเรื่องราวเลวร้ายในอดีต
ตัวอย่างของปัญหาทางจิตใจที่อาจทำให้เกิดอาการหูแว่ว ได้แก่
- โรคจิตเภท (Schizophrenia)
- โรคจิตทางอารมณ์ (Schizoaffective Disorder)
- ภาวะซึมเศร้า
- โรคอารมณ์สองขั้วหรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)
- ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder)
- โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)
การเจ็บป่วยทางจิตใจเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย เช่น อารมณ์เศร้าที่เป็นอย่างต่อเนื่อง ความผิดปกติภายในสมอง สารเคมีในสมองบางชนิดผิดปกติ และการผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง อย่างสูญเสียคนรักหรือคนในครอบครัว ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดความผิดปกติภายในสมอง ดังนั้นหากมีอาการหูแว่วหรือได้ยินเสียงในหัวหลังจากผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ หรือทราบว่าตนเองมีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะโรคและภาวะทางอารมณ์นี้อาจรุนแรงขึ้นได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคสมองและระบบประสาท
สมองและระบบประสาทเป็นหน่วยประมวลผลการรับรู้ของร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ประมวลเสียงที่เกิดขึ้นด้วย และแน่นอนว่าหากอวัยวะหรือระบบเหล่านี้ผิดปกติก็อาจทำให้การรับรู้และการประมวลผลผิดเพี้ยนจนทำให้เกิดอาการหูแว่วได้ โดยโรคสมองและระบบประสาทที่อาจทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงมีดังนี้
- โรคลมชัก
- เนื้องอกในสมอง
- โรคพาร์กินสัน
- โรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมประเภทอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีโรคสมองและระบบประสาทอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการรับรู้และตีความของเสียงได้ แม้ว่าอาการหูแว่วจะไม่ใช่อาการหลัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ หากพบอาการหูแว่วติดต่อกันนาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม ควรไปพบแพทย์
ภาวะเกี่ยวกับหู
อาการหูแว่วจากสภาพทางกายอาจเป็นเสียงที่เกิดจริง แต่ด้วยความผิดปกติเกี่ยวกับหูและระบบการรับรู้จึงอาจทำให้ได้ยินเสียงเหล่านั้นผิดเพี้ยนไป แต่ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหู อย่างอาการได้ยินเสียงในหู (Tinnitus) และหูหนวกก็อาจทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงได้เช่นเดียวกัน โดยเสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย อย่างเสียงวิ้ง ๆ เสียงหวีดแหลม หรือเสียงอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการหูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินก็อาจได้ยินเสียงคนพูดคุยที่มีอยู่จริง แต่ด้วยอาการดังกล่าวอาจทำให้ได้ยินคล้ายกับเสียงกระซิบที่จับใจความไม่ได้
ปัญหาเกี่ยวกับหูที่ทำให้เกิดเสียงในหูหรือการได้ยินเพี้ยนไปอาจมาจากการได้ยินเสียงดัง อย่างเสียงพลุ เสียงระเบิด เสียงดนตรีในคอนเสิร์ต การฟังเพลงเสียงดังติดต่อกันนาน นอกจากนี้ การบาดเจ็บ อุบัติเหตุ และการติดเชื้อภายในหูก็อาจส่งผลต่อการได้ยินและทำให้เกิดอาการหูแว่วหรือได้ยินไม่ชัดได้
นอกจากปัญหาสุขภาพเหล่านี้แล้ว ปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมต่อไปนี้ก็อาจทำให้เกิดอาการหูแว่วได้เช่นกัน
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบการรับรู้และระบบประสาท
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด มักพบในช่วงแรกของการใช้ยา และพบบ่อยในผู้สูงอายุ
- อารมณ์ทางลบที่รุนแรง เช่น ความเครียด ความกังวล และความโกรธ เป็นต้น
- โรคและปัญหาสุขภาพ อย่างอาการปวดหัวไมเกรน อาการไข้สูงจากการติดเชื้อ อาการเพ้อหรือคลุ้มคลั่ง (Delirium) และโรคต่อมไทรอยด์
- ปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ โรคลมหลับ (Narcolepsy) หรืออาการผล็อยหลับโดยไม่สามารถควบคุมได้
- ความเหนื่อยล้า โดยจากการศึกษาชิ้นหนึ่งในผู้ป่วยโรคสมองพบว่า ความเหนื่อยล้าอาจทำให้เกิดอาการหูแว่วและภาพหลอนได้ ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ
- พันธุกรรม ในครอบครัวที่สมาชิกมีการเจ็บป่วยทางจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือโรคไบโพลาร์ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยเหล่านี้ ซึ่งนำไปสู่อาการหูแว่วได้
- การหมกมุ่นต่อบางสิ่งมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องเหนือธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม การหูแว่วเพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือนาน ๆ ครั้งอาจไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล แต่หากได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงติดต่อกัน ได้ยินบ่อย ได้ยินดังขึ้น เสียงเหล่านั้นโน้มน้าวให้ทำบางสิ่งบางอย่าง หรือเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคทางจิตใจ โรคสมอง และผู้สูงอายุ
ขั้นตอนการรักษาอาการหูแว่ว
อาการหูแว่วชั่วคราวบางชนิดอาจเกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นก็อาจลดความเสี่ยงของอาการหูแว่วแบบชั่วคราวได้ เช่น งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดใช้สารเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดและความเหนื่อยล้า
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงต่ออาการหูแว่ว หรืออาการได้ยินเสียงต่าง ๆ รุนแรงขึ้น เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาที่ใช้ อาการที่พบ ลักษณะเสียงที่ได้ยิน ความถี่ ความรุนแรง ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว และพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
จากนั้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจวัดการได้ยินสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการหูหนวก และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ( Electroencephalogram: EEG) เพื่อหาความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท สำหรับผู้ป่วยที่อาจมีแนวโน้มเกี่ยวกับโรคทางจิตใจ แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้เข้ารับการตรวจจากจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการต่อไป
การรักษาอาการหูแว่วโดยแพทย์อาจแตกต่างตามสาเหตุของอาการ เช่น ถ้าเกิดจากโรคทางสมองและระบบประสาทแพทย์อาจรักษาด้วยยาเพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมองร่วมกับการดูแลตนเอง หากเกิดจากโรคทางจิตใจ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาควบคู่กับการบำบัด เป็นต้น
สุดท้ายนี้ อาการหูแว่วอาจเกิดขึ้นและหายไปเองได้ แต่หากการได้ยินเสียงดังกล่าวส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม