อบเชย เป็นเครื่องเทศที่เชื่อว่าอาจมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยสมานแผล ป้องกันอาการท้องร่วง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ หรือลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเปลือกของอบเชยประกอบไปด้วยสารแทนนิน (Tannins) สารอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
อบเชยมีรสชาติหวานและมีกลิ่นฉุน นิยมใช้อย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปลือกของอบเชยมักถูกนำมาบดเป็นผงประกอบอาหาร หรือใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สบู่ เครื่องสำอาง และยารักษาโรคของแพทย์แผนจีนโบราณ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอบเชยควรศึกษาข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์ที่ช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของอบเชย ก่อนบริโภคอบเชยเพื่อหวังผลทางสุขภาพหรือการรักษาโรค
อบเชยกับคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระมีหน้าที่ต่อสู้กับสารอนุมูลอิสระที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าสารอนุมูลอิสระอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคมะเร็งได้ แหล่งอาหารที่สำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ คือ ผักและผลไม้ และในอบเชยก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มีการศึกษาค้นคว้าที่แสดงให้เห็นว่า อบเชยมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง เมื่อเปรียบเทียบกับกานพลู ออริกาโน และพืชสมุนไพรอื่น ๆ นอกจากนี้ สารสกัดจากอบเชยยังนำมาใช้เป็นวัตถุกันเสีย หรือใช้ถนอมอาหารที่ผลิตจากธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน
อบเชยกับคุณสมบัติต้านการอักเสบ
การอักเสบเป็นกระบวนการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย มีความเชื่อว่าการรับประทานอบเชยอาจช่วยต้านการอักเสบได้ จึงมีการศึกษาเกี่ยวกับพืชสมุนไพรที่แสดงให้เห็นว่าสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ในอบเชย เช่น กอสไซปิน (Gossypin) เฮสเพอริดิน (Hesperidin) เควอซิทิน (Quercetin) มีคุณสมบัติต้านการอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังมีงานค้นคว้าที่ทดลองในเซลล์มนุษย์ เพื่อพิสูจน์คุณสมบัติต้านการอักเสบ จากการทดลองพบว่า สารไฮดรอกซีซินนามาลดีไฮด์ (Hydroxycinnamaldehyde) ที่สกัดจากอบเชย อาจใช้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกันการอักเสบจากโรคทางระบบประสาท และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกมะเร็งได้อีกด้วย
แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงถึงคุณสมบัติลดการอักเสบของอบเชย แต่ก็เป็นเพียงผลการทดลองจากตัวอย่างเซลล์ในห้องปฏิบัติการ และยังไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะสรุปประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ควรศึกษาทดลองเพิ่มเติมต่อไป
อบเชยกับการป้องกันภาวะหลั่งเร็ว
การหลั่งเร็วเป็นภาวะที่ผู้ชายทำกิจกรรมทางเพศแล้วหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไป หรือหลั่งภายในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังการสอดใส่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่เผชิญปัญหานี้รู้สึกอาย และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ได้ ทั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้แสดงให้เห็นว่า การทดลองใช้ครีมที่มีส่วนผสมของอบเชย โสมเกาหลี และยาโบราณ ทาบริเวณอวัยวะเพศชายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วล้างออกก่อนทำกิจกรรมทางเพศ อาจช่วยแก้ปัญหาการหลั่งเร็วได้
อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาดังกล่าวจะแสดงถึงประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของอบเชยในด้านการป้องกันภาวะหลั่งเร็ว แต่ก็เป็นเพียงการศึกษากับผู้เข้าร่วมการทดลองบางกลุ่ม อีกทั้งครีมดังกล่าวมีส่วนผสมอื่น ๆ รวมอยู่หลายชนิด และผู้ทดลองบางรายมีผลข้างเคียงหลังใช้งานเป็นอาการปวดและแสบร้อนเล็กน้อยด้วย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อไป เพื่อยืนยันคุณสมบัติของอบเชยในการแก้ปัญหาหลั่งเร็วได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อบเชยกับการรักษาโรคเบาหวาน
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ 1 และ 2 หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความเสียหายที่เส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อบเชยเป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenolics) ที่ใช้ในแพทย์แผนจีนมายาวนานและเชื่อว่าอาจส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอบเชยหรือสารสกัดจากอบเชยอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดในสมองมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี แม้หลายคนเชื่อว่าอบเชยอาจช่วยรักษาโรคเบาหวานและมีงานทดลองที่ชี้ว่าการรับประทานอบเชยอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่การศึกษาประสิทธิภาพของอบเชยต่อการรักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ยังมีไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเน้นเรื่องประสิทธิผลในระยะยาวและความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการใช้อบเชยเพื่อรักษาโรคเบาหวาน
นอกจากสรรพคุณต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีความเชื่อที่ว่าอบเชยอาจช่วยรักษาและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท และโรคมะเร็ง แต่ในทางการแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มีผลวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอรองรับประโยชน์ในด้านดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาทดลองเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิผลที่แน่ชัดของอบเชยในด้านต่าง ๆ ต่อไป
รับประทานอบเชยอย่างไรให้ปลอดภัย
แม้ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานอบเชย แต่การรับประทานเปลือกอบเชยเป็นส่วนผสมอาหารหรือใช้เป็นยารักษาโรคตามคำแนะนำของแพทย์นั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม การบริโภคอบเชยอาจไม่ปลอดภัย หากรับประทานปริมาณมากเกินไปหรือรับประทานน้ำมันอบเชย เพราะอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิว เยื่อเมือก กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ และทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น
ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานอบเชยเป็นพิเศษ
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอบเชยนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด และสังเกตอาการในระหว่างรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอบเชย เพราะอบเชยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอบเชยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอบเชยอาจกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด