อยู่ไฟ ความเชื่อโบราณในการดูแลตนเองหลังคลอด

อยู่ไฟ เป็นวิธีทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้ดูแลสภาพร่างกายด้านต่าง ๆ ของผู้หญิงหลังคลอดลูก แม้การอยู่ไฟจะถูกปรับเปลี่ยนไปจากอดีตพอสมควรเพื่อความเพิ่มปลอดภัยและความสะดวกสบายแก่คุณแม่ แต่ในปัจจุบันวิธีการนี้ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่มาก เพราะเชื่อกันว่าการอยู่ไฟมีประโยชน์มากมาย เช่น อาจช่วยขับน้ำคาวปลา กระตุ้นน้ำนม และฟื้นฟูสภาพร่างกายที่อ่อนล้าหลังคลอดได้ เป็นต้น

อยู่ไฟ

อยู่ไฟ ทำอย่างไร ?

ในอดีต การอยู่ไฟเพื่อพักฟื้นหลังคลอดอาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การนั่งถ่าน การเข้ากระโจม การประคบสมุนไพร การทอดไฟ การย่างไฟ การรมเตา การทับหม้อเกลือ หรือการนาบหม้อเกลือ เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน วิธีการอยู่ไฟถูกปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น เช่น การใช้ตู้อบไอน้ำ หรือการนำกระเป๋าน้ำร้อนมาอังที่หน้าท้อง เป็นต้น

การอยู่ไฟอาจทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยนำสมุนไพรไทยไปต้มน้ำเพื่อให้ได้ไอความร้อน และตั้งสมุนไพรที่ต้มแล้วไว้ใกล้ตัวในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก ซึ่งควรอยู่ไฟประมาณ 1 เดือน ทำเช่นนี้ประมาณ 3 ครั้ง/วัน ครั้งละ 15 นาที และควรเว้นช่วงพักเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย จิบน้ำร้อนหรือน้ำสมุนไพรเป็นระยะเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ หรืออาจรับประทานข้าวต้มผสมเกลือเพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป ทั้งนี้ ควรมีคนอยู่ดูแลตลอดการอยู่ไฟด้วย เพื่อคอยช่วยดูแลความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ และควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งอาจมีบริการดูแลมารดาหลังคลอดในรูปแบบของการแพทย์แผนไทยด้วยการใช้ไอน้ำอบตัวเป็นเวลาประมาณ 15 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยหรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยจัดเตรียมอุปกรณ์และสมุนไพรไว้ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ไฟ ดังนั้น การอยู่ไฟที่โรงพยาบาลก็อาจเป็นอีกทางเลือกที่สะดวก ประหยัด และปลอดภัยกว่าทำเองที่บ้าน

อยู่ไฟ จำเป็นหรือไม่ ?

อยู่ไฟ เป็นวิธีการพักฟื้นหลังคลอดของผู้เป็นแม่ซึ่งมีมาแต่โบราณ โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยได้แนะนำการอยู่ไฟให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลตนเองสำหรับผู้หญิงหลังคลอดลูก เพราะเชื่อว่าอาจช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยดูแลสุขภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ได้ด้วย

โดยความเชื่อเกี่ยวกับประโยชน์ของการอยู่ไฟ มีดังนี้

  • ฟื้นฟูสภาพร่างกายที่อ่อนล้าหลังการคลอด
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
  • ขับน้ำคาวปลา
  • กระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  • พักฟื้นเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
  • ป้องกันอาการหนาวสะท้าน
  • กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  • ลดความรู้สึกชาที่มือหรือเท้าและการเกิดตะคริว
  • ลดปัญหาผิวบวมช้ำ
  • คลายกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อย

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีการพัฒนายาแผนปัจจุบันที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว รวมทั้งช่วยขับน้ำคาวปลาให้หมดไปได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การอยู่ไฟก็อาจไม่จำเป็นต่อผู้หญิงหลังคลอดอีกต่อไป

ข้อควรระวังของการอยู่ไฟ

หากต้องการอยู่ไฟหลังคลอด ควรไปพบแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง เพื่อปรึกษาถึงวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัยและความเสี่ยงเผชิญอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งคุณแม่ที่ต้องการอยู่ไฟหลังคลอดควรตระหนักถึงข้อควรระวังต่าง ๆ ของการอยู่ไฟด้วยเช่นกัน

โดยข้อควรระวังของการอยู่ไฟ มีดังนี้

  • ควรอยู่ไฟในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงสว่างเพียงพอ
  • ควรจิบหรือดื่มน้ำทดแทนน้ำที่เสียไป และเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ
  • ไม่ควรก่อไฟให้ร้อนหรือลุกโชนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังพุพองได้
  • ไม่ควรนำทารกเข้าไปอยู่ไฟด้วย เนื่องจากความร้อนจะทำให้ทารกเสียน้ำและเกลือแร่มากจนเป็นอันตรายได้
  • หากมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า หรือเหนื่อยผิดปกติ ควรหยุดการอยู่ไฟ
  • หากมีฝีเย็บ ให้รอจนครบ 7 วันก่อนเริ่มอยู่ไฟ เพราะอาจทำให้ไหมละลายได้
  • ห้ามใช้ฟืนไม้ตาด ฟืนไม้รัก และฟืนไม้แดง เพราะเมื่อนำมาเผาอาจทำให้ไฟแตกกระเด็นเป็นควันแสบตาได้ ซึ่งรวมถึงฟืนไม้เนื้ออ่อน เช่น มะม่วง ขนุน งิ้ว หรือนุ่น เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดควันมากเกินไป