อาการออทิสติกเทียม คือภาวะที่เด็กขาดการถูกกระตุ้นให้สื่อสาร เนื่องจากผู้ปกครองเลี้ยงดูแบบไม่มีปฏิสัมพันธ์หรือไม่ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการร่วมกันเท่าที่ควร ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมคล้ายเป็นโรคออทิสติก เช่น ไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองเมื่อถูกเรียกชื่อ พูดได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีปัญหาในการสื่อสาร และมีพัฒนาการช้าด้วย
อาการออทิสติกเทียมมักพบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีที่ถูกเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลยด้วยการปล่อยให้เด็กดูการ์ตูนหรือคลิปวิดีโอต่าง ๆ จากโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์เป็นประจำ จากงานวิจัยพบว่าหากเด็กในวัยนี้อยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานมากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการออทิสติกเทียม มีพัฒนาการทางภาษาช้า มีปัญหาทางด้านอารมณ์ รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นด้วย
สัญญาณของอาการออทิสติกเทียม
แม้ว่าอาการส่วนใหญ่ออทิสติกเทียมจะคล้ายกับอาการของโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) แต่แท้จริงแล้วทั้งอาการออทิสติกเทียมและโรคออทิสติกมีความแตกต่างกัน
เพราะโรคออทิสติกเป็นความผิดปกติที่เกิดจากพัฒนาการทางสมอง ส่วนอาการออทิสติกเทียมไม่ใช่โรค เป็นเพียงคำเรียกพฤติกรรมที่เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม จนส่งผลให้แสดงอาการออกมาคล้ายกับเป็นโรคออทิสติกเท่านั้น
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของอาการออทิสติกเทียมสามารถแสดงออกมาได้หลากหลายรูปแบบ โดยเด็กที่มีอาการออทิสติกเทียมมักมีพฤติกรรมดังนี้
- เด็กมักจะไม่ยอมสบตา และไม่ชอบมองหน้าหรือพูดคุยกับผู้อื่น
- เมื่อถูกเรียกชื่อ เด็กมักจะไม่สนใจหรือไม่หันหน้ามาตามเสียงเรียก
- เด็กมักจะไม่แสดงออกว่าอยากได้หรืออยากทำอะไร เช่น ไม่ชี้นิ้วบอกเมื่อเห็นสิ่งของที่อยากได้
- มีความผิดปกติในการพูด เช่น พูดได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน พูดไม่เป็นภาษา พูดคำเดิมซ้ำ ๆ ทั้งวัน
- เด็กมักจะมีพฤติกรรมเก็บตัว ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว และไม่สนใจผู้อื่น
- เด็กอาจมีอาการสมาธิสั้น เช่น อยู่ไม่นิ่ง และนั่งทำกิจกรรมอะไรนาน ๆ ไม่ได้
นอกจากนี้ เด็กอาจแสดงพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เด็กในวัยทารกจะไม่ตอบสนองด้วยการยิ้มหรือหัวเราะเมื่อผู้ใหญ่มาเล่นจ๊ะเอ๋ด้วย ส่วนเด็กเล็กหรือเด็กโตมักมีอารมณ์ฉุนเฉียวและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อไม่ได้ใช้เครื่องมือสื่อสารตามที่ต้องการ รวมถึงอาจแสดงออกว่าไม่พอใจเมื่อต้องทำกิจกรรมที่แตกต่างออกไปจากกิจวัตรประจำวันของตัวเอง และอาจมีทักษะการเข้าสังคมต่ำด้วย
เคล็ด (ไม่) ลับ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างไกลอาการออทิสติกเทียม
ธรรมชาติของเด็กจะเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ดังนั้นการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ทำ จะเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก และมีผลอย่างยิ่งต่อกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาการ และการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจึงควรดูแลเอาใจใส่ลูกด้วยวิธีการเหล่านี้ เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมตามวัย และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการออทิสติกเทียมได้
1. พูดคุยสื่อสารกับลูกบ่อย ๆ
การเลี้ยงเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นพูดคุยสื่อสารกับลูกอยู่เสมอ โดยควรฝึกพูดคุยกับลูกอย่างช้า ๆ ชัด ๆ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการออกเสียงและท่าทางที่ถูกต้อง เรียนรู้คำศัพท์ที่ใช้ในการพูดคุยสื่อสาร รวมถึงเพื่อให้เด็กได้ฝึกการพูดคุยสื่อสารตอบกลับกับผู้อื่นด้วย
2. จำกัดเวลาการใช้เครื่องมือสื่อสาร
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยการปล่อยให้อยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์เพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1.5 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 1.5 ปี ควรจำกัดเวลาในการใช้เครื่องมือสื่อสารแค่ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง โดยควรใช้เพื่อทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการ อย่างการเล่นเกมจับคู่หรือเกมจับผิดภาพมากกว่าการดูคลิปที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการในอินเตอร์เน็ต
3. เล่นกับลูกให้มากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ควรทำกิจกรรมที่ช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการกับลูกให้มากขึ้น เช่น การอ่านนิทานการวาดรูประบายสี การปั้นดินน้ำมัน การเล่นของเล่นบล็อกไม้ การต่อตัวต่อ หรือการออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น การเต้นตามเพลง และการปั่นจักรยาน โดยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยในการพัฒนาสมองและการคิดอย่างเป็นระบบ ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก และช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้แก่เด็กด้วย
4. กำหนดกฎง่าย ๆ ภายในบ้าน
การจะให้ลูกใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้น้อยลง คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดูด้วย โดยอาจตั้งกฎง่าย ๆ ภายในบ้านที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ดูโทรทัศน์เมื่ออยู่ในห้องนอน ไม่เล่นโทรศัพท์บนโต๊ะอาหาร ไม่เล่นโทรศัพท์ในขณะที่กำลังนั่งรถ รวมถึงไม่เล่นโทรศัพท์ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมของครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย
อาการออทิสติกเทียมไม่ได้พบแค่ในเด็กเล็กเท่านั้น แต่สามารถพบในเด็กวัยรุ่นได้เช่นกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานอยู่เสมอ หากมีพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณของอาการออทิสติกเทียมเกิดขึ้น หรือมีอาการที่รุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพาบุตรหลานไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม