อาการโควิด วิธีสังเกตและรับมืออย่างเหมาะสม

อาการโควิดมีลักษณะคล้ายกับโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โดยมักแสดงอาการทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือสูญเสียการรับรสและกลิ่นชั่วคราว แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจแสดงอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้

โรคโควิด (COVID-19) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเราสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาได้หลายทาง ทั้งจากการสูดดมเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศในพื้นที่ปิดหรือพื้นที่แออัด จากการไอหรือการจามของผู้ติดเชื้อ หรือจากการสัมผัสกับพื้นผิวของสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาก่อนแล้วนำมือนั้นมาสัมผัสกับดวงตา จมูก หรือปากก็ได้เช่นกัน

อาการโควิด

อาการโควิดที่ควรสังเกต

ผู้ป่วยโรคโควิดส่วนใหญ่มักมีอาการไอ มีไข้ และหายใจลำบาก โดยอาการจะแสดงออกมาหลังได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 2–14 วัน แตกต่างกันไปผู้คนแต่ละคน หรือในบางคนอาจจะไม่มีอาการใดแสดงออกมาก็ได้ ซึ่งนอกเหนือจากอาการหลักแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย 

ตัวอย่างอาการโควิดที่ไม่รุนแรงและพบได้บ่อย เช่น

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อยล้า
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • สูญเสียการได้กลิ่นหรือการรับรส
  • รู้สึกสับสน
  • ท้องเสีย
  • เยื่อบุตาอักเสบ
  • มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะเสี่ยงมักหายได้เองเพียงแค่บรรเทาอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง แต่ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน จะมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ และอาจทำให้เกิดอาการของโรคโควิดที่รุนแรงได้ 

ตัวอย่างอาการโควิดที่รุนแรง เช่น

  • รู้สึกหายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม 
  • มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
  • ใบหน้าหรือริมฝีปากซีดหรือคล้ำ
  • รู้สึกสับสน ง่วงนอน หรือไม่มีสติ
  • ขยับร่างกายเคลื่อนไหวหรือพูดคุยสื่อสารได้ลำบาก

อาการของโรคโควิดที่รุนแรงเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) และภาวะหายใจลำบาก นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายไปจนถึงการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านี้จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากอาการโควิด 

การป้องกันโรคโควิดที่มีประสิทธิภาพคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อลดโอกาสในการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดอย่างครบถ้วนตามทำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส หรือช่วยลดความรุนแรงของอาการลงในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสได้ด้วย
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% ทดแทนชั่วคราวในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำและสบู่ได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก และปาก หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
  • ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดที่มีผู้คนแออัด เช่น ในรถโดยสารสาธารณะ หรือในลิฟต์
  • ผู้ที่มีอาการในระบบทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น เมื่อไอหรือจามควรปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วย
  • ควรทำความสะอาดของใช้ภายในบ้านและอุปกรณ์ที่มักสัมผัสเป็นประจำ เพื่อลดจำนวนของเชื้อไวรัสที่อาจปะปนอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของ และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ทั้งนี้ อาการของโรคโควิดโดยส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรงมาก จึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากนัก เพียงแค่ฉีดวัคซีนและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อในกรณีที่เกิดการติดเชื้อจะได้ช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยได้อย่างรวดเร็ว และไม่แพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ควรสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด และหากมีสัญญาณของการติดเชื้อโควิด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการักษาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด