อาการขาดธาตุเหล็กเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับธาตุเหล็กที่ต่ำผิดปกติ โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ กระบวนการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายมีปัญหา การเสียเลือดจำนวนมาก และการตั้งครรภ์ เป็นต้น
ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของร่างกายหลายอย่าง เช่น กระบวนการสร้างฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นส่วนสำคัญของโปรตีนไมโอโกลบิน (Myoglobin) ที่มีหน้าที่ช่วยกักเก็บออกซิเจนในเซลล์กล้ามเนื้อ และช่วยสร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกัน หากร่างกายขาดธาตุเหล็กไปจึงอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หลายส่วน
อาการขาดธาตุเหล็กมีอะไรบ้าง
การขาดธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย ร่างกายมักยังไม่พบอาการผิดปกติอะไร หรืออาจพบเพียงอาการอ่อนเพลียเท่านั้น แต่เมื่อภาวะขาดธาตุเหล็กเริ่มมีความรุนแรงขึ้น เลือดในร่างกายจะลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) โดยอาการที่มักพบได้ เช่น
- เวียนศีรษะ
- เซื่องซึม อ่อนเพลียผิดปกติ
- เล็บเปราะ หักง่าย
- หายใจไม่อิ่ม
- ตัวซีด
- รู้สึกเจ็บบริเวณลิ้น
- มือและเท้าเย็น
- หัวใจเต้นเร็ว
- เบื่ออาหาร หรือมีความรู้สึกอยากรับประทานสิ่งที่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร เช่น ดิน หรือน้ำแข็ง
อาการขาดธาตุเหล็กอันตรายหรือไม่
อาการขาดธาตุเหล็กที่ไม่รุนแรงอาจไม่ได้เป็นอันตราย แต่คนที่ขาดธาตุเหล็กอย่างต่อเนื่องแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและปอด เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) หรือหัวใจวาย
- ในกรณีที่เป็นเด็กอาจกระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ช้าผิดปกติ
- หากเกิดในคนที่กำลังตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กคลอดก่อนกำหนดและทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติได้
แม้อาการขาดธาตุเหล็กบางอาการดูไม่ค่อยรุนแรง แต่คนที่มีอาการในข้างต้นควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรืออาหารเสริมธาตุเหล็กด้วยตัวเอง เนื่องจากภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นภาวะที่ต้องได้รับการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และได้รับการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์เท่านั้น