อาการคนท้องระยะแรกหรือประจำเดือนใกล้จะมา รู้ได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงมักส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย เจ็บเต้านม หรือมีอารมณ์อ่อนไหวกว่าปกติ ซึ่งอาการคนท้องระยะแรกกับอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ก็อาจทำให้เกิดอาการในลักษณะเดียวกัน จึงอาจทำให้สาว ๆ หลายคนสับสนว่าตนเองท้องหรือประจำเดือนกำลังจะมากันแน่

แม้ว่าทั้งสองภาวะนี้มีบางอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่ยังมีอีกหลายอาการที่อาจแตกต่างกันอย่างชัดเจน ส่วนอาการที่คล้ายก็ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่มีความแตกต่างกันอยู่ หากสังเกตให้ดีก็อาจช่วยให้แยกแยะทั้งสองภาวะได้ง่ายขึ้น โดยในบทความนี้ได้รวบรวมอาการเด่น ๆ ของทั้งสองภาวะ พร้อมวิธีสังเกตอาการในเบื้องต้นที่มีลักษณะคล้ายกันมาฝาก 

Early pregnancy and PMS

รู้จักกับอาการก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS 

อาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่นำไปสู่การมีประจำเดือนตามกลไกของร่างกายในเพศหญิง ซึ่งระดับของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดอาการหรือความผิดปกติในช่วงก่อนหรือระหว่างประจำเดือนมา เช่น

  • คัดเต้านม
  • ปวดท้อง ปวดหลัง
  • ท้องอืด
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย
  • อยากอาหารหรือรับประทานมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักขึ้น สิวขึ้น
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ
  • ปวดศีรษะ

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการเหล่านี้หรือปรากฏแค่เพียงบางอาการเท่านั้น โดยอาการเหล่านี้มักหายได้เองเมื่อประจำเดือนเริ่มมาหรือประจำเดือนหมด

อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณจากเจ้าตัวน้อย

ในกระบวนการการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เมื่อไข่ที่สุกแล้วของเพศหญิงได้รับการปฏิสนธิจากตัวอสุจิ ร่างกายจะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งการหลั่งของสารเคมีจากปฏิสนธิอาจส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้ได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

  • คัดเต้านม
  • ปวดท้อง ปวดหลัง
  • ท้องอืด
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย
  • อยากอาหารหรือรับประทานมากกว่าปกติ
  • คลื่นไส้อาเจียน หรือแพ้ท้อง
  • หัวนมมีสีที่เปลี่ยนไป ผิวหนังดูคล้ำขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ
  • ปวดศีรษะ

จากส่วนนี้จะเห็นได้ว่าทั้งสองภาวะมีอาการที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน โดยอาการที่แตกต่างกันมาก อย่าง อาการแพ้ท้องที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนได้น้อยกว่ามาก จึงอาจใช้อาการเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการตัดสินอาการด้วยตนเองในเบื้องต้น

แยกความแตกต่างของอาการได้อย่างไร ?

ไม่ว่าจะเป็นอาการคนท้องระยะแรกหรืออาการก่อนมีประจำเดือน อาการหลักของทั้งสองภาวะนี้มีลักษณะคล้ายกัน แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน ดังนี้

คัดเต้านม

อาการคัดเต้านมมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เต้านมตึง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้น หนักขึ้น เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัว สำหรับวิธีสังเกตความแตกต่าง คือ ระยะเวลา อาการคัดเต้านมที่เกิดจากการตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นหลังเริ่มตั้งครรภ์ราว 1-2 สัปดาห์และอาจเป็นติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งนานกว่าอาการ PMS

ปวดท้อง

ความแตกต่างของอาการปวดท้องของสองกลุ่มอาการนี้ คือ ตำแหน่งที่เกิดอาการปวด อาการปวดท้องประจำเดือนจะอยู่บริเวณหน้าท้องและหลังส่วนล่างมักจะหายไปเมื่อหมดประจำเดือน ส่วนอาการคนท้องระยะแรกจะปวดบริเวณท้องน้อยกับหลังส่วนล่าง และมักจะปวดในระดับที่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีประวัติแท้งบุตรอาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าว ร่วมกับการมีเลือดหรือของเหลวออกทางช่องคลอด ควรไปพบแพทย์ทันที

อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลต่อสมองและอารมณ์ได้เช่นกัน หากเป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในช่วงก่อนมีประจำเดือนมักจะเป็นความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย วิตกกังวล หรือรู้สึกเศร้าเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจเกิดในช่วง 1-2 วัน ก่อนมีประจำเดือน และหายไปเมื่อประจำเดือนหมด ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์อาจมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ทั้งความรู้สึกทางบวกและทางลบ อย่างหัวเราะง่าย ตื่นเต้นง่าย เศร้าง่าย และร้องไห้ง่าย คุณแม่บางคนอาจเป็นต่อเนื่องกันจนกระทั่งคลอด แต่อารมณ์ด้านลบที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์และไม่ได้ตั้งครรภ์ ดังนั้น หากรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือมีอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย ในเบื้องต้น การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอาจบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

อยากอาหาร

ผู้ที่มีอาการ PMS อาจมีความอยากอาหารมากกว่าปกติ จึงอาจส่งผลให้รับประทานมากขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารประเภทแป้ง ของหวาน หรือของที่มีรสเค็มจัด ส่วนผู้ที่มีอาการของคนท้องระยะแรกอาจมีอาการอยากอาหารที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันหรือชอบอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ อย่างของดองหรือของที่มีกลิ่นเฉพาะตัว คุณแม่บางคนอาจมีความรู้สึกอยากรับประทานสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารหรือเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างน้ำแข็ง ดิน เศษเหล็ก หรือเศษไม้ อาหารเหล่านี้เรียกว่า Pica หากพบสัญญาณเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

อาการก่อนมีประจำเดือนอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทำให้นอนไม่หลับหรือง่วงซึมตลอดเวลา แต่มักหายได้เองเมื่อประจำเดือนมา สำหรับคนท้องมักจะมีอาการเหนื่อยล้าเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรกและอาจเป็นติดต่อกันจนกระทั่งคลอด ในเบื้องต้นคุณแม่อาจลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ อย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ทั้งสองภาวะยังอาจพบเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศได้เช่นกัน สำหรับอาการ PMS ก็คือเลือดประจำเดือน ซึ่งอาจจะมีปริมาณเล็กน้อยในช่วงแรกและเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ คือ สัญญาณการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะมีเลือดออกมาเล็กน้อยราว 1-3 วัน หรือที่เรียกกันว่าเลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสนระหว่างเลือดประจำเดือนกับเลือดล้างหน้าเด็ก การจดบันทึกเกี่ยวกับวันตกไข่ อย่างจำนวนวันที่ประจำเดือนมาและปริมาณของประจำเดือน หรืออาการอื่น ๆ ก็อาจช่วยให้แยกอาการตั้งครรภ์กับ PMS ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการคนท้องระยะแรกและ PMS อาจเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ หากสังเกตอาการแล้วไม่ได้ผลหรือรู้สึกไม่แน่ใจ อาจลองใช้ที่ตรวจครรภ์ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และไม่ควรละเลยอาการที่เกิดขึ้น เพราะหากเป็นการตั้งครรภ์ การสังเกตอาการเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่ดูแลใส่ใจตนเองและลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลถึงพัฒนาการ ความแข็งแรง และความปลอดภัยของทารก