อาการคันขาหนีบ รู้ทันสาเหตุและวิธีรักษา

คันขาหนีบเป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยในประเทศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและรำคาญใจแล้ว ยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ การรู้สาเหตุของอาการคันขาหนีบและวิธีบรรเทาอาการอาจช่วยให้เรารับมือกับปัญหานี้ได้ดีขึ้น 

อาการคันขาหนีบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สภาพอากาศไปจนถึงสุขลักษณะส่วนตัว ซึ่งบางสาเหตุจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เพื่อควบคุมอาการ จึงไม่ควรละเลยอาการคันที่เกิดขึ้น โดยบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุของอาการคันขาหนีบ วิธีสังเกต และวิธีรักษาเบื้องต้นเอาไว้

อาการคันขาหนีบ รู้ทันสาเหตุและวิธีรักษา

สาเหตุของอาการคันขาหนีบ

สาเหตุของอาการคันขาหนีบที่พบได้ในชีวิตประจำวันแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1. อาการคันขาหนีบจากปัจจัยภายนอก

อาการคันตามร่างกายรวมทั้งคันขาหนีบ อาจเกิดขึ้นแล้วหายไปเองโดยยังไม่ทันรู้สาเหตุ บางครั้งอาจเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาการคันขาหนีบลักษณะนี้อาจเกิดจากการระคายเคืองหรือการอักเสบบริเวณผิวหนังที่ไม่รุนแรงจากปัจจัยภายนอกที่สัมผัสโดนผิวหนัง เช่น ขอบกางเกงชั้นใน สบู่ ครีมบำรุงผิว สารเคมีจากผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า และน้ำยาปรับนุ่ม โดยส่วนใหญ่แล้วอาการมักดีขึ้นเองหรือเลี่ยงการสัมผัสกับปัจจัยดังกล่าว

2. อาการคันขาหนีบจากโรค

อาการคันเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่น่ากังวลมากขึ้น โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการคันขาหนีบเรื้อรังมักมาจากการติดเชื้อราที่ผิวหนังหรือหลายคนจะเรียกว่าสังคัง ซึ่งอาการคันขาหนีบชนิดนี้เกิดจากการเติบโตของเชื้อราบนผิวหนังที่เพิ่มขึ้นผิดปกติจนเกิดการติดเชื้อ 

การติดเชื้อราที่ผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง คันขาหนีบ ผื่นแดง โดยความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เชื้อราแพร่กระจายไปยังผิวหนังใกล้เคียง อย่างอัณฑะ ต้นขา ก้น และฝีเย็บ และยังสามารถติดต่อสู่คนอื่นได้จากการสัมผัส

ปัจจัยที่ทำให้เชื้อราบริเวณขาหนีบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอาจเกิดจากความอับชื้นใต้ร่มผ้า เหงื่อออกมาก การสวมกางเกงชั้นในที่ไม่สะอาด สุขอนามัยที่ไม่ดี และการใช้ของใช้ส่วนตัวอย่างกางเกงชั้นในและผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้ที่มีภาวะผิวหนังติดเชื้อราอยู่ก่อนแล้ว 

การติดเชื้อราที่ผิวหนังเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักเกิดในผู้ชายได้มากกว่า โดยเฉพาะวัยรุ่น ส่วนคนที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรามากขึ้น

หากมีอาการคันขาหนีบเรื้อรังร่วมกับเกิดผื่นแดงบริเวณขาหนีบหรือผิวหนังใกล้เคียง หรืออาการลักษณะเดียวในส่วนอื่นของร่างกาย โดยเฉพาะเท้าหรือซอกนิ้วเท้า ควรไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อราแพร่ไปยังผิวหนังส่วนอื่นจนอาการรุนแรงขึ้น และป้องกันการติดต่อสู่คนอื่น

นอกจากการติดเชื้อราที่ผิวหนังแล้ว อาการคันขาหนีบเรื้อรังอาจเกิดจากโรคและปัญหาสุขภาพอื่นได้อีก เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคตับ โรคไต โรคเลือดจาง โรคเบาหวาน ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ ดังนั้น หากพบอาการคันขาหนีบเรื้อรังและอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประวันก็ไม่ควรละเลย และควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

วิธีจัดการกับอาการคันขาหนีบในเบื้องต้น

ใครที่เพิ่งเริ่มมีอาการคันขาหนีบ วิธีต่อไปนี้อาจช่วยได้

  • สวมกางเกงและกางเกงชั้นในที่แห้ง สะอาด ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นเกินไป
  • เลือกใช้ของใช้ส่วนตัวที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง อย่างสบู่ ครีมบำรุงผิว น้ำยาซัก และผงซักฟอก รวมทั้งเลี่ยงสารก่อระคายเคืองอย่างน้ำหอม
  • ไม่สวมกางเกงชั้นในและเสื้อผ้าซ้ำ ๆ 
  • ซักเสื้อผ้าและตากแดดเป็นประจำเพื่อลดจำนวนของเชื้อโรค
  • รักษาความสะอาดของร่างกายทุกส่วนอย่างเหมาะสม
  • พยายามรักษาผิวหนังทุกส่วนให้แห้งและไม่อับชื้น
  • งดการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะกางเกงชั้นใน ผ้าเช็ดตัว และถุงเท้า
  • ไม่ควรเกา ถู หรือทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณขาหนีบ เพราะอาจทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น
  • เมื่อคันขาหนีบเรื้อรังหรือพบสัญญาณของการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ควรไปพบแพทย์
  • หากเป็นสังคังหรือมีอาการคันขาหนีบ ควรใช้ยาฆ่าเชื้อราตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดจนครบตามเวลา และไม่หยุดใช้ยาเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการกลับมารุนแรงและรักษายากขึ้น
  • ใช้ยาแก้คันตามที่แพทย์และเภสัชกรกำหนดอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อรา แพทย์หรือเภสัชกรอาจจ่ายอื่น ๆ โดยอาจเป็นยารูปแบบรับประทานและยาทา ซึ่งควรใช้ตามฉลากและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย

คันขาหนีบเป็นอาการที่ป้องกันและบรรเทาได้ แต่หากลองใช้วิธีเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล อาการไม่ทุเลา อาการรุนแรงขึ้น หรือเกิดความผิดปกติอื่น โดยเฉพาะแผลพุพอง แสบร้อน เป็นหนอง มีของเหลวไหลออกจากผิวหนัง หรือเป็นไข้ ควรไปพบแพทย์ทันที