อาการงูสวัดกับข้อมูลที่ควรรู้

อาการงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส เชื้อชนิดนี้จะฝังตัวอยู่ในปมประสาทเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใส และหากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงในช่วงใด เชื้อไวรัสดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคงูสวัดแทนได้ โดยอาการงูสวัดมักไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดได้

งูสวัดเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสของเหลวที่ออกจากผื่นหรือแผลพุพองของผู้ป่วยงูสวัด โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อมักจะเป็นคนที่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสหรือโรคงูสวัดมาก่อน อายุมากกว่า 50 ปี ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ และอยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด

คนทั่วไปอาจมีอาการงูสวัดหนึ่งครั้งในชีวิต แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีอาการงูสวัดเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง การทราบอาการงูสวัดและข้อมูลอื่น ๆ ของโรคในเบื้องต้นอาจช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

อาการงูสวัดกับข้อมูลที่ควรรู้

อาการงูสวัดเป็นอย่างไร

ผู้ที่มีอาการงูสวัดอาจแสดงความผิดปกติทางผิวหนังซีกใดซีกหนึ่งเป็นหย่อม ๆ โดยช่วงแรกจะรู้สึกปวด เจ็บแปลบ แสบร้อน และชาตามผิวหนัง หลังจากนั้นจะเกิดผื่นแดงภายใน 2–3 วัน แผลพุพองที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส และมีอาการคัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ระคายเคืองเมื่อโดนแสง ต่อมน้ำเหลืองบวมและท้องเสีย หากเริ่มสังเกตเห็นอาการงูสวัดในข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อผื่นแผ่ขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว เกิดผื่นหรือรู้สึกเจ็บบริเวณใบหน้าหรือใกล้ดวงตา สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหรือรับการรักษาที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อาการงูสวัดบรรเทาได้อย่างไรบ้าง

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการงูสวัดให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาและการดูแลตนเองควบคู่กัน

การใช้ยา

แพทย์จะใช้ยาหลายกลุ่มในการรักษาอาการงูสวัด เช่น

  • ยาแก้ปวดทั่วไป เพื่อบรรเทาความเจ็บ ปวด หรืออาการอักเสบ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ยาต้านไวรัส เพื่อชะลออาการงูสวัด เช่น ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir)
  • ยาทาคาลาไมน์ (Calamine Lotion) เพื่อบรรเทาอาการคัน

รวมถึงแพทย์อาจใช้ยาชา ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants) ยากันชัก (Anticonvulsant) หรือยาฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)  ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือป่วยอย่างรุนแรง

การดูแลตนเอง

ผู้ที่มีอาการงูสวัดควรดูแลตนเองด้วยการทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการอย่างสม่ำเสมอ ห้ามเกา ประคบเย็นอย่างน้อยวันละ 20 นาที ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นเพื่อลดการเสียดสีและความอับชื้น โดยเนื้อผ้าควรเป็นเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าลินินหรือผ้าฝ้าย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้มาก ๆ หันเหความสนใจออกจากอาการเจ็บปวดและคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการงูสวัดควรระมัดระวังการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยควรล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวผู้อื่นในระหว่างที่มีอาการ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่ไม่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เราทุกคนสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingles Vaccine) ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 91–97 ในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันปกติ และลดความรุนแรงของอาการงูสวัดเมื่อเกิดการติดเชื้อได้ โดยภายหลังการฉีดวัคซีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น รู้สึกปวด เกิดรอยแดง คันหรือบวมในบริเวณที่เกิดการฉีด