อาการชาที่น่องขา คืออาการที่น่องมีความรู้สึกน้อยลง รู้สึกชาแปลบ ๆ ซ่า ๆ เหมือนถูกเข็มทิ่ม หรือรู้สึกไวต่อสัมผัสมากขึ้น ซึ่งอาการชาที่น่องขาอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้การลุกขึ้นหรือการเดินลำบากจนสร้างความกังวลได้ การรู้สาเหตุของอาการชาที่น่องขาจึงอาจช่วยให้รับมือได้มากขึ้น
อาการชาที่น่องขาอาจเกิดได้จากสาเหตุทั่วไป เช่น การนั่งไขว่ห้างหรือการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ แต่ก็อาจมาจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเส้นประสาทและหลอดเลือดได้ การสำรวจสาเหตุต่าง ๆ จึงอาจทำให้รู้ถึงโรคที่แอบแฝงมาพร้อมอาการชา และอาจช่วยให้เข้ารับการรักษาจากแพทย์ได้เร็วขึ้น
6 สาเหตุอาการชาที่น่องขา ปัญหาสุขภาพที่ควรรู้ก่อน
อาการชาที่น่องขาอาจเกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่รุนแรงหรืออาจเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น
1. นั่งท่าเดิมนาน ๆ
การนั่งอยู่ในท่าเดิมหรือนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนท่าเลยสามารถทำให้เกิดอาการชาที่น่องขาได้ เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับและเลือดไหลเวียนไปยังน่องขาน้อยลง โดยอาการชาที่เกิดจากการถูกกดทับเส้นประสาทและการไหลเวียนเลือดชั่วคราวนี้เรียกว่าพาเรสทีเชีย (Paresthesia)
อาการชาที่น่องขาจากภาวะพาเรสทีเชียสามารถหายได้เองเมื่อเปลี่ยนท่านั่ง รวมถึงสามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ และไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ
2. เส้นประสาทถูกกด (Pinched Nerves)
สาเหตุของเส้นประสาทถูกกดนั้นมีได้หลายอย่าง แต่มักจะเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เนื้อเยื่อและกระดูกบริเวณใกล้เคียงเกิดความผิดปกติจนกดทับเส้น สำหรับอาการชาที่น่องขานั้นก็อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา หรือขาชาได้ โดยสาเหตุของหมอนรองกระดูกเคลื่อนอาจมาจากนั่งหลังค่อม ยกของหนัก หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
นอกจากนี้ อาการชาที่น่องขายังอาจมาจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณส้นเท้า (Tarsal Tunnel Syndrome) ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวขึ้นมาถึงขาและทำให้ขาชาได้ โดยการกดทับเส้นประสาทที่ส้นเท้าอาจมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น เท้าแบน ข้อเท้าแพลง หรือโรคข้ออักเสบ
3. โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานอาจทำให้เส้นประสาทเสียหายหรือปลายประสาทอักเสบได้ โดยเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปจนทำให้หลอดเลือดไม่สามารถส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ประสาท ส่งผลให้เซลล์ประสาทตายและมีความผิดปกติกับร่างกาย เช่น อาการชาที่น่องขา แต่โดยปกติแล้วปลายประสาทอักเสบจากเบาหวานจะทำให้เกิดอาการชาที่เท้าก่อนลามมาที่ขา และอาการมักจะแย่ลงในตอนกลางคืน
4. โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral artery disease: PAD)
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบนั้นเกิดจากพลัค (Plaque) ซึ่งก็คือไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่น ๆ เข้าไปอุดตันในหลอดเลือดแดง ส่งผลให้เลือดไม่ไหลเวียนจนเกิดอาการชาที่น่องขา โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมักมาจากการสูบบุหรี่และโรคเบาหวาน ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคที่สังเกตได้นอกจากอาการชาคือ ผมร่วง อ่อนเพลีย ปวดขาและเอวเวลาเดิน
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบนั้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคจึงควรเข้ารับการตรวจเพื่อรับการรักษาที่ทันท่วงที
5. โรคแพ้ภูมิตัวเอง
โรคแพ้ภูมิตัวเองคือโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแทน โดยโรคนี้ส่งผลให้ระบบประสาทเสียหายและมักทำให้เกิดอาการชาที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย รวมถึงอาการชาที่น่องขาเช่นกัน ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคอาจมีได้หลากหลาย เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ผมร่วง ร้อนใน แขนขาบวม และมีไข้
6. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกันที่อาจส่งผลให้เกิดอาการชาที่น่องขาเช่นกัน โดยโรคนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีระบบประสาทส่วนกลาง จนทำให้เกิดอาการชาเหมือนเข็มทิ่ม หรืออาการชาอย่างหนักซึ่งส่งผลให้รับรู้ความรู้สึกได้น้อยลงจนเดินลำบาก ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรค เช่น เวียนหัว มึนงง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดเกร็ง และข้อติด (Joint Stiffness)
วิธีรับมืออาการชาที่น่องขา
ถึงแม้ว่าการรักษาอาการชาที่น่องขาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่ผู้ที่มีอาการก็อาจรับมือด้วยตนเองเพื่อลดอาการชาได้ด้วยวิธี ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักในขาข้างที่รู้สึกชา และนอนพักผ่อนเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังขาดีขึ้น ซึ่งยังช่วยบรรเทาการถูกกดทับที่เส้นประสาทด้วย
- หากอาการชาไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บที่เส้นประสาท หรือการบาดเจ็บที่หลัง เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือการกดทับเส้นประสาทบริเวณส้นเท้า การออกกำลังกายยืดเส้นสาย เช่น เดินเล่น เต้นแอโรบิค ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน อาจช่วยให้อาการชาที่น่องขาดีขึ้นได้
- ใช้การประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการชาที่น่องขา โดยการประคบร้อนจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่วนการประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบและบวม ซึ่งการประคบเย็นสามารถนำมาใช้กับผู้ที่มีอาการชาเพราะเส้นประสาทบริเวณส้นเท้าถูกกดได้ด้วย
- นวดเบา ๆ บริเวณเท้าและน่องขาจะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และบรรเทาอาการชาที่น่องขาได้
- แช่ขาลงในน้ำอุ่นที่ใส่ดีเกลือฝรั่ง (Epsom Salt) โดยใส่ดีเกลือฝรั่ง ¼ ถ้วยต่อน้ำอุ่น 1 ถ้วย แช่ประมาณ 20 นาที โดยดีเกลือฝรั่งจะปล่อยแมกนีเซียม (Magnesium) และซัลเฟตไออน (Sulfate Ions) ซึ่งช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น รวมถึงลดอาการปวด อักเสบ และอาการชาที่น่องขา
อาการชาที่น่องขาสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง แต่หากมีอาการชาบ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ทรงตัวไม่อยู่ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ผิวที่ขาเปลี่ยนสี รูปร่าง และมีอุณหภูมิแตกต่างไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง