อาการติดเชื้อภายในร่างกาย สัญญาณแบบไหนที่ควรระวัง

อาการติดเชื้อเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยอาการอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อโรคและตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อด้วย ซึ่งอาการติดเชื้อที่พบได้ทั่วไปมักจะเป็นอาการเป็นไข้ ปวดตามร่างกาย และการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ

การสังเกตอาการติดเชื้อเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจและการรักษาอย่างถูกต้องได้ทันเวลา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการติดเชื้อชนิดรุนแรง หรือเกิดการติดเชื้อในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 

Infection Symptoms

อาการติดเชื้อที่คุณควรรู้

ภาวะติดเชื้อของร่างกายเกิดจากเชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ แสดงออกมา บทความนี้ได้รวบรวมตัวอย่างอาการติดเชื้อที่พบได้บ่อยมาฝากกัน

อาการติดเชื้อทั่วไป

แม้ว่าเชื้อแต่ละชนิดจะส่งผลต่อร่างกายต่างกัน แต่ร่างกายมักจะตอบสนองต่อการติดเชื้อโดยทำให้เกิดอาการเหล่านี้

  • เป็นไข้ ตัวร้อน พบได้ตั้งแต่เป็นไข้ต่ำถึงไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว ปวดตามร่างกาย
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
  • เบื่ออาหาร

ในบางครั้งการติดเชื้ออาจไม่ได้ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ทั้งหมด แต่หากพบอาการในกลุ่มดังกล่าวอาการใดอาการหนึ่งก็อาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังติดเชื้อได้

หากพบว่าเป็นไข้ติดต่อกันหลายวัน เป็นไข้สูง ไข้ไม่ลดแม้ใช้ยาลดไข้หรือลดไข้ด้วยวิธีอื่น และอาการอื่น ๆ ไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ แต่หากพบอาการติดเชื้อทั่วไปในทารกและผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว แม้อาการจะไม่รุนแรงก็ควรพาไปพบแพทย์

อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยมักเป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดต่าง ๆ ซึ่งการดูแลตนเองร่วมกับการรักษาจากแพทย์จะช่วยให้อาการหายดีได้ แต่กรณีที่เชื้อโรคลุกลามสู่ปอดหรือได้รับเชื้อโรคอันตรายอาจทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้อหรือที่หลายคนมักเรียกอาการปอดบวม

อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อทั่วไปร่วมกับอาการต่อไปนี้

  • เป็นไข้ พบได้ตั้งแต่เป็นไข้ต่ำถึงไข้สูง
  • อาการไอ ทั้งไอแห้งและไอมีเสมหะ
  • เจ็บคอ กลืนอาหารแล้วเจ็บ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล

ในรายที่อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจรุนแรงอาจพบอาการอื่นที่รุนแรงขึ้นด้วย เช่น หายใจหอบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก และไอเป็นเลือด นอกจากนี้ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอาจแพร่สู่คนอื่นผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม และพูดคุยได้ด้วย

อาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

อาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย มักเกิดหลังจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารหมดอายุ โดยเชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อยมักจะเป็นกลุ่มของเชื้ออีโคไล (Escherichia Coli) เชื้อลิสทีเรีย (Listeria) และเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella)

ตัวอย่างของภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด โรคกระเพาะอาหารติดเชื้อ โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว เวียนหัว และคลื่นไส้อาเจียน หากเป็นติดต่อกันอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำที่เป็นภาวะอันตราย โดยเฉพาะเมื่อเกิดในเด็ก 

ดังนั้น เมื่อพบอาการอาเจียนไม่หยุด ท้องเสียติดต่อกันเกิน 3 วัน ร่วมกับสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อย ปากแห้ง กระหายน้ำ และเวียนหัว ควรไปพบแพทย์

อาการติดเชื้อที่บาดแผล

บาดแผลตามร่างกายเป็นช่องทางที่เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อดูแลบาดแผลไม่ดีหรือไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่มีเชื้อโรคปะปนก็อาจทำให้แผลติดเชื้อได้ เมื่อแผลเกิดการติดเชื้ออาจทำให้อาการต่อไปนี้

  • ผิวหนังแดงคล้ายผื่นรอบบาดแผล
  • แผลและผิวหนังรอบแผลบวม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกอุ่นกว่าผิวหนังส่วนอื่น
  • รู้สึกเจ็บหรือปวด โดยเฉพาะเมื่อกดหรือสัมผัสรอบ ๆ แผลติดเชื้อ
  • เป็นหนอง
  • แผลหายช้ากว่าปกติ
  • แผลไหม้ส่งกลิ่นเหม็น

แม้จะเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังภายนอกร่างกาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เชื้อโรคอาจแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ จึงควรไปพบแพทย์หากพบสัญญาณของแผลติดเชื้อ เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม

นอกจากภาวะแผลติดเชื้อแล้ว ผิวหนังยังสามารถเกิดติดเชื้อได้แม้จะไม่มีแผล อย่างภาวะผิวหนังติดเชื้อราที่พบได้บ่อย ซึ่งการติดเชื้อบริเวณผิวหนังชั้นนอกมักไม่ทำให้เป็นไข้หรือเกิดอาการติดเชื้อทั่วไปในข้างต้น แต่อาจพบผื่นแดง คัน ผิวแห้งลอกแทน

อาการติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์

โรคทางเพศสัมพันธ์มีสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย โดยเชื้อที่ได้รับอาจต่างกันไปตามเชื้อที่อีกฝ่ายมี ซึ่งเชื้อจะเข้าผ่านทางอวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก

อาการทั่วไปของโรคทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่

  • มีของเหลวไหลออกมาตามอวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก โดยอาจมีสีหรือกลิ่นเหม็นด้วย
  • มีอาการปัสสาวะแสบขัดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • เกิดก้อนแข็งหรือติ่งเนื้อรอบอวัยวะเพศหรือทวารหนัก
  • เกิดผื่นแดง คันรอบอวัยวะเพศหรือทวารหนัก
  • เกิดแผลพุพองรอบอวัยวะเพศหรือทวารหนัก

โรคทางเพศสัมพันธ์แต่ละโรคอาจแสดงอาการที่แตกต่างกัน และการติดเชื้อในระยะแรกมักจะไม่พบอาการผิดปกติ โดยโรคทางเพศสัมพันธ์ที่คนคุ้นเคยมักจะเป็นโรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคพยาธิในช่องคลอด และโรคติดเชื้อเอชไอวี 

โรคทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่รักษาได้ แต่บางโรคก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยเหตุนี้ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

อาการติดเชื้อรุนแรง

ภาวะติดเชื้อรุนแรงพบได้ยาก โดยอาจเกิดจากการได้รับเชื้อโรคที่เป็นอันตรายและปล่อยการติดเชื้อไว้โดยไม่ได้รักษา ทำให้เชื้อลุกลามมากขึ้น นอกจากนี้ คนที่มีปัญหาสุขภาพอาจมีความเสี่ยงภาวะติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการใช้ยาและโรค 

ตัวอย่างของอาการและภาวะติดเชื้อรุนแรง เช่น

  • ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis) ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว คอหรือท้ายทอยแข็ง เป็นไข้ คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกสับสน และไวต่อแสง
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) จะทำให้เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว เป็นไข้ หนาวสั่น มีอาการสับสนและรู้สึกตัวน้อยลง และภาวะช็อค

ทั้งสองภาวะเป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต หากพบอาการที่เป็นสัญญาณในข้างต้น ควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง

ภาวะติดเชื้อเกิดได้กับอวัยวะและระบบร่างกายทุกส่วน ซึ่งการติดเชื้อแต่ละแบบอาจต้องการการรักษาที่แตกต่างกัน ในเบื้องต้นสามารถสังเกตอาการติดเชื้อทั่วไป อย่างเป็นไข้ หนาวสั่น และปวดเมื่อยตามตัว หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดในทารกและผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว