อาการต่อมลูกหมากโต เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่ผู้ชายทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรทำความรู้จักเอาไว้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดได้มาก โดยหากเป็นโรคต่อมลูกหมากโตแล้วไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตอาจเสี่ยงเกิดปัญหาอื่นตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฉี่ไม่ออก หรือการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะขนาดเล็กที่พบได้บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่คอยผลิตน้ำอสุจิ และมักจะค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยโรคต่อมลูกหมากโตจะเป็นโรคที่ส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้นจนส่งผลให้ทางเดินปัสสาวะเกิดการติดขัด
ส่วนด้านสาเหตุ ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเมื่ออายุเพิ่มขึ้น การป่วยด้วยภาวะเบาหวาน และการป่วยด้วยโรคหัวใจ โดยในส่วนการรักษา แพทย์จะใช้การให้ยา หรือการผ่าตัดเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน
วิธีสังเกตอาการต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้ ๆ กับท่อปัสสาวะ ดังนั้น หากป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะก็อาจได้รับการกดทับจากขนาดของต่อมลูกหมากที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนนำไปสู่อาการต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน บางคนอาจต้องตื่นมาปัสสาวะ
- ปัสสาวะไหลช้าหรือเอื่อยผิดปกติ
- ปัสสาวะไหลกะปริบกะปรอยในช่วงท้ายของการปัสสาวะ
- ปัสสาวะเล็ด
- ใช้เวลานานผิดปกติในช่วงก่อนปัสสาวะไหล
- รู้สึกปัสสาวะไม่สุด
- รู้สึกแสบหลังปัสสาวะ หรือหลังหลั่งน้ำอสุจิ
- ปัสสาวะมีสีผิดปกติไป
- ปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- ปัสสาวะปนเลือด
วิธีรับมือกับอาการต่อมลูกหมากโต
สำหรับผู้ที่มีอาการต่อมลูกหมากโต การดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างอาจช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น
- พยายามไม่กลั้นปัสสาวะ เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดการยืดออกมากผิดปกติจนเกิดความเสียหายได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากสารเหล่านี้อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตปัสสาวะออกมามากขึ้นและอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองได้
- พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในช่วง 1–2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันการตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ
- หากกำลังใช้ยาในกลุ่มต้านฮิสตามีน หรือยาแก้คัดจมูกอยู่ อาจจะลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการต่อมลูกหมากโตที่เกิดขึ้น เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจส่งผลต่อระบบการปัสสาวะได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พยายามความคุมความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นได้
- เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการท้องผูก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจยิ่งส่งผลให้อาการต่อมลูกหมากโตแย่ลงได้
- หมั่นออกกำลังกายให้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงมาก ๆ เนื่องจากเครื่องปรุงบางชนิดอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองได้
- ฝึกการออกกำลังกายเพื่อบริหารอุ้งเชิงกราน ขั้นตอนแรกให้ฝึกจากการหาตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานก่อนด้วยการเกร็งเพื่อหยุดปัสสาวะกลางคัน โดยกล้ามเนื้อที่เกร็งจะเป็นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จากนั้นเมื่อทราบถึงตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแล้ว ให้พยายามเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนี้บ่อย ๆ ครั้งละประมาณ 5–20 วินาที
ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงการดูแลตัวเองจากอาการต่อมลูกหมากโตในเบื้องต้นเท่านั้น อีกทั้งในบางครั้ง อาการในลักษณะของโรคต่อมลูกหมากโตยังอาจเกิดได้จากโรคอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากอักเสบ ท่อปัสสาวะตีบแคบ นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาะ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ดังนั้น นอกจากการดูแลตัวเองด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ผู้ที่มีอาการต่อมลูกหมากโตก็ยังควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไม่สามารถปัสสาวะได้เลย มีไข้ขึ้น หนาวสั่น รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะมาก ปัสสาวะปนเลือด ปวดบริเวณท้องช่วงล่างหรืออวัยวะเพศขณะปัสสาวะ