อาการท้องอืดมักทำให้รู้สึกอึดอัดและตึงแน่นที่ท้อง ซึ่งเกิดจากการมีแก๊สในทางเดินอาหารมาก บางคนอาจมีอาการปวดท้อง ท้องแข็ง และอิ่มเร็ว อาการท้องอืดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวมักดีขึ้นได้เองและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากมีอาการเรื้อรังจะทำให้ไม่สบายท้องและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคที่ควรได้รับการรักษา
อาการท้องอืดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหารและพฤติกรรมการกินอาหาร การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หากมีอาการท้องอืดจากการมีแก๊สในทางเดินอาหาร สามารถดูแลและป้องกันการเกิดอาการได้เอง แต่กรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ลักษณะของอาการท้องอืด
โดยทั่วไป ผู้ที่มีอาการท้องอืดมักมีอาการไม่สบายท้อง รู้สึกแน่นท้อง ท้องตึงแข็ง และเรอบ่อย เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก รวมทั้งมีอาการท้องร้องโครกคราก และอิ่มเร็วแม้จะกินอาหารไปไม่มาก ซึ่งความรุนแรงของอาการของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน หากอาการรุนแรงอาจมีอาการปวดท้องมาก
อาการท้องอืดมักหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่บางคนอาจมีอาการในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุทีทำให้เกิดอาการท้องอืด
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด
อาการท้องอืดแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักคือการมีแก๊สในทางเดินอาหาร และโรคหรือความผิดปกติในร่างกาย ดังนี้
การมีแก๊สหรือลมเข้าไปในทางเดินอาหาร
แก๊สในกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด โดยมักเกิดจากการกินอาหารบางประเภทที่ทำให้เกิดแก๊ส พฤติกรรมการกินอาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่น ๆ
- การกินอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม ถั่ว และธัญพืช
- การกินอาหารที่ไฟเบอร์สูงในปริมาณมากเกินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบทางเดินอาหารผลิตแบคทีเรียเพื่อย่อยสลายไฟเบอร์ และทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
- การดื่มน้ำอัดลม ซึ่งมีการอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป หากดื่มปริมาณมากจะทำให้ท้องอืดได้
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ และเหล้า
- การกินอาหารหรือเครื่องดื่มปริมาณมากหรือกินเร็วเกินไป
- พฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง การสูบบุหรี่ และการใส่ฟันปลอมที่หลวมเกินไป ทำให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไปในทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องอืดตามมา
ปัญหาสุขภาพ
ปัจจัยด้านสุขภาพหลายอย่างอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด เช่น
- ท้องผูก ซึ่งมีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้จำนวนมาก ทำให้รู้สึกอึดอัดและแน่นท้อง
- โรคทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) โรคโครห์น (Crohn's Disease) และภาวะลำไส้เคลื่อนตัวน้อย (Ileus)
- ร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางอย่างผิดปกติ เช่น ไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมวัว (Lactose Intolerance) และไม่สามารถย่อยโปรตีนกลูเตนในข้าวสาลี (Gluten intolerance)
- โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดความเสียหายต่อลำไส้เล็ก และทำให้การดูดซึมสารอาหารผิดปกติ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก่อนมีประจำเดือนและช่วงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
- การใช้ยา เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ และอาหารเสริมไฟเบอร์
แนวทางรักษาอาการท้องอืด
การดูแลรักษาอาการท้องอืดมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ ดังนี้
เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
ผู้มีอาการท้องอืดควรกินอาหารให้ช้าลง และหลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมากในคราวเดียว โดยแบ่งกินเป็นมื้อเล็ก ๆ และกินอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารเมื่อรู้สึกหิว ซึ่งจะช่วยให้กินอาหารแต่ละมื้อได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สหรือมีลมเข้าไปในกระเพาะอาหาร เช่น หัวหอม กระเทียม ถั่ว หมากฝรั่ง น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้ที่มีอาการท้องอืดหลังกินอาหารบางชนิด เช่น นม และข้าวสาลี ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารเหล่านี้ และเลือกกินอาหารที่ไม่มีกลูเตนและแลคโตสแทน
ผู้ที่มีอาการท้องผูกควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายดีขึ้น โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละน้อยเพื่ให้ร่างกายปรับสภาพได้ และไม่เกิดอาการท้องผูก
ปรับพฤติกรรมที่ทำให้ท้องอืด
การงดสูบบุหรี่จะช่วยลดปริมาณลมที่เข้าไปในทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้ ควรหมั่นออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉงและลดปริมาณแก๊สในกระเพาะอาหาร
การใช้ยาและสมุนไพร
การดื่มชาสมุนไพร เช่น เปปเปอร์มินต์ คาร์โมมายล์ ขิง และขมิ้น จะช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร และช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหารได้
นอกจากนี้ อาจใช้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาลดกรด (Antacids) ยาไซเมทิโคน (Simethicone) ที่ช่วยขับลม และอาหารเสริมอื่น ๆ เช่น โพรไบโอติก (Probiotics)
อาการท้องอืดที่ควรไปพบแพทย์
หากมีอาการท้องอืดบ่อยหรือไม่หายขาด และกรณีที่มีอาการท้องอืดร่วมกับอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาโดยเร็ว
- ปวดท้องรุนแรงเป็นเวลานาน
- อาเจียน
- ท้องเสีย อุจจาระเป็นสีดำ หรือถ่ายเป็นเลือด
- มีไข้สูง
- เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มเร็ว
- แน่นหน้าอก และแสบร้อนกลางอก
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการท้องอืดมักทำให้รุ้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง ไม่อยากอาหาร และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยทั่วไป อาการท้องอืดที่เกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหารมักหายได้หลังจากดูแลตัวเอง แต่กรณีที่อาการเกิดจากโรคประจำตัว ควรรักษาโรคที่เป็นอยู่ควบคู่กับปรับพฤติกรรม จะช่วยให้อาการท้องอืดดีขึ้นไปด้วย