อาการปวดเข่าในวัยรุ่น เป็นอาการเจ็บหรือปวดที่บริเวณเข่า อาจบวม เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และจำกัดการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่มีอาการควรสังเกต หาสาเหตุ เพื่อรักษาได้อย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้อาการแย่ลง
อาการปวดเข่า อาจเกิดขึ้นจากการได้รับบาดเจ็บ การใช้งานเข่าในกิจกรรมต่าง ๆ ซ้ำ ๆ มากเกินไป หรืออาจเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบ โดยเพศหญิงมักจะเสี่ยงต่ออาการปวดเข่ามากกว่าเพศชาย อีกทั้งแต่ละกิจกรรมอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากน้อยแตกต่างกัน เช่น บาสเกตบอล เสี่ยงก่อให้เกิดอาการมากกว่าการว่ายน้ำ
สาเหตุของอาการปวดเข่าในวัยรุ่น
สาเหตุของอาการปวดเข่าในวัยรุ่น อาจเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1. เคล็ดขัดยอก
เคล็ดขัดยอกคืออาการบาดเจ็บจากการฉีกขาดที่กล้ามเนื้อ (strain) หรือเอ็นกระดูก (sprain) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีการยืดหรือเหยียดตึงมากเกินไป การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออาจหายได้ใน 2–3 สัปดาห์ แต่อาจเกิดอาการซ้ำได้ ในขณะที่การบาดเจ็บที่เส้นเอ็นอาจใช้เวลา 4–6 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นในการฟื้นตัว
หากเกิดอาการเคล็ดขัดยอกที่บริเวณเข่า อาจมีอาการปวดขณะบาดเจ็บหรือหลังได้รับบาดเจ็บก็ได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการกดแล้วเจ็บบริเวณเข่า บวม ช้ำ กล้ามเนื้อกระตุก ปวดมากขึ้นหรือรู้สึกอ่อนแรงเมื่อใช้งานหรือขยับบริเวณเข่าที่ปวด
2. การใช้งานหนัก หรือซ้ำ ๆ มากเกินไป
อาการปวดเข่าในวัยรุ่นมักเกิดจากการใช้งานหนักเกินไป จากการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น กระโดด วิ่ง และการขยับร่างกายเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งมักอยู่ในการเล่นกีฬา และออกกำลังกาย
การขยับร่างกายแบบเดิมซ้ำ ๆ เช่นนี้ อาจทำให้เข่าบาดเจ็บได้ เช่น หมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด (Meniscal tears) เอ็นหัวเข่าอักเสบ (Jumper’s knee) กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ (Runner’s knee) ปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ (Osgood-schlatter disease) ปวดหน้าหัวเข่าเรื้อรัง (Adolescent anterior knee pain) เจ็บลูกสะบ้า (Patellofemoral pain syndrome)
การใช้งานหนักเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวด บวม กดแล้วเจ็บ ที่บริเวณใต้หรือรอบ ๆ กระดูกสะบ้าหัวเข่า ข้อเข่าตึง มีรอยบุ๋มที่ด้านล่างของสะบ้าหัวเข่า เข่าล็อกหรือมีเสียงกระดูกลั่น หรือเข่าทรุด นอกจากนี้ อาการปวดเข่ามักแย่ลงขณะเล่นกีฬา ปีนบันได หรือขณะงอเข่าด้วย
3. โรคกระดูกพรุนอักเสบ
โรคกระดูกพรุนอักเสบ (Osteochondritis dissecans) คือโรคที่กระดูกอ่อนกร่อนและหลุดลอกออกจากเนื้อกระดูก มักเกิดจากการใช้งานหนัก การเล่นกีฬา หรืออาจเกิดในคนที่กระดูกไม่ตรง หรือคนที่มีขาโก่ง โดยโรคนี้มักทำให้มีอาการปวดตามข้อต่อ เช่น เข่า ข้อศอก และข้อเท้า หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดอาการบวม ข้อต่อล็อก และเกิดโรคข้ออักเสบได้ โดยการรักษามักใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะหายดี
4. โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (Juvenile idiopathic arthritis) เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 6 เดือน –16 ปี โดยโรคข้ออักเสบที่ก่อให้เกิดอาการปวดเข่าในวัยรุ่น มี 2 ชนิดหลัก ได้แก่
- ข้ออักเสบ Oligoarthritis ส่งผลให้ข้อต่อขัด ตึง และบวมตามข้อต่อใหญ่ เช่น เข่า ข้อศอก และข้อเท้า โดยอาจมีอาการเห็นภาพเบลอ อ่อนเพลีย บางกรณีสามารถหายเป็นปกติได้เมื่อรับการรักษา แต่บางกรณีอาจแพร่กระจายไปที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเมื่อโตขึ้นแล้ว
- ข้ออักเสบ Polyarthritis, rheumatoid factor negative คือโรคข้ออักเสบที่ส่งกระทบต่อข้อต่อ 5 ข้อต่อขึ้นไป หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีปุ่มรูมาตอยด์ขึ้นตามร่างกาย รวมถึงมีไข้อ่อน ๆ ร่วมด้วย
วิธีการรับมือกับอาการปวดเข่าในวัยรุ่น
วิธีการรับมือกับอาการปวดเข่าในขั้นเบื้องต้น ควรหยุดทำกิจกรรมที่ทำให้อาการแย่ลง จากนั้นอาจใช้เจลเย็นประคบบริเวณเข่าที่ปวดประมาณ 15–20 นาที ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ในครั้งแรกที่เกิดอาการ และประคบเย็นทุก 3–4 ชั่วโมงในวันต่อมา นอกจากนี้ อาจใช้ผ้ายืดพันรอบเข่าเพื่อลดการเคลื่อนไหว ป้องกันไม่ให้บาดเจ็บหรือปวดมากกว่าเดิม รวมถึงควรยกเข่าให้สูงเหนือหัวใจด้วยการใช้หมอนหรือผ้าห่มรองเข่าขณะนอน
อาการปวดเข่าในวัยรุ่นสามารถป้องกันได้ด้วยการฝึกยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายที่ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ รวมถึงควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและคูลดาวน์หลังออกกำลังกาย ผู้ที่มีอาการปวดเข่าที่ไม่หายภายในเวลา 2–3 วัน อาการปวดแย่ลง หรือมีอาการอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา ควรพบแพทย์